พรสวรรค์กับพรแสวง หลายคนก็คงรู้และให้ความสำคัญไม่แพ้กัน
เพราะถ้าขาดอย่างใดอย่างหนึ่งไป ก็อยากที่เราจะประสบความสำเร็จในการทำเรื่องใดเรื่องหนึ่ง
แต่ที่นี่ เราลองมาดูที่มาของคำทั้งสอง ความสำคัญ และวิธีปรับความคิด เพื่อที่เราจะได้ใช้ชีวิตอย่างที่เป็นอยู่ได้อย่างมีความสุขกันดีกว่า
คำว่า พรสวรรค์ จริงๆ เราก็ไม่ได้รู้ที่มาหรอก แต่รู้ว่ามีคำศัพท์ภาษาจีน
เขาเรียกว่า เทียนไช้ (อาจสะกดไม่ถูก)
หากแปลตรงตัวก็คือ สิ่งที่สวรรค์ประทานมาให้ หรือหมายความตรงๆก็คือ พรสวรรค์นั่นเอง
สังคมจีน รวมไปถึงสังคมเอเชียของเราจึงมีความเชื่อเรื่องพรสวรรค์มาก
เห็นคนนี้เก่งระดับโอลิมปิก วาดรูป เล่นดนตรีเก่ง ก็มักเหมารวมไปว่า เด็กคนนี้มีพรสวรรค์
(และอาจบ่นโทษตัวเองต่อว่าไม่มีวันทำได้หรอกกกก)
ดังนั้น สังคมเอเชียของเรา จึงมักมีความเชื่อฝังหัวแปลกๆ
ประมาณว่าคนเก่งเลขต้องไม่เก่งภาษา คนเก่งภาษาต้องไม่เก่งเลข
หรือคนที่ไม่ชอบเลขต้องวาดรูปเก่ง
ทั้งที่จริงๆ อาจจริงเป็นบางส่วน แต่ก็ไม่ได้เป็นกฎตายตัว
อีกความเชื่อหนึ่งที่ตามมาก็คือ คนเราต้องเก่งแค่เรื่องเดียว ทำมันเรื่องนั้นเรื่องเดียวให้ลึก เก่ง เทพที่สุด
ถามว่าควรไหม ก็ ควร
เช่นถ้าเราเป็นนักเขียน ก็ควรรู้รู้เรื่องใดเรื่องหนึ่งให้ลึกไปเลย ย่อมดีกว่ารู้เพียงผิวเพลิน
แต่ประเด็น สำคัญคือ เราต้องทำเพียงเรื่องนั้นเรื่องเดียวหรือ
เมื่อวันก่อน หลังจากที่เราหายไปจากบล็อก เพราะไปฝังตัวอยู่ใน Korean self-studying community
เป็นสังคมเล็กๆ ออนไลน์ที่เป็นกลุ่มคนที่เรียนภาษาเกาหลีด้วยตัวเอง
ก็เลยมีเพื่อนหลายชาติ หลายภาษา หลายวัฒนธรรม
มีคนหนึ่ง เธอเป็นนักเรียนจาก Standford มหาวิทยาลัยระดับ ท็อปๆ ของอเมริกา
เราก็เดาว่า เธอต้องเรียนเมเจอร์พวกภาษาแน่เลย แต่ผิดคาดค่ะ
เพราะเมเจอร์ของเธอคือวิทยาศาสตร์และกำลังเรียนปริญญาเอกอยู่ด้วย
เราชอบประโยคหนึ่งของเธอที่พูดว่า Science is my livelihood but Korean is my passion.
และเธอก็ทุ่มเทให้กับสองสิ่งนี้ที่เธอรักและประสบความสำเร็จอย่างสวยงาม
ยิ่งช่วงนี้ เราออกไปอยู่ในสังคมจริงๆ ได้เพื่อนใหม่ ได้คนรู้จักหลายคน ที่มาจากความคิดในแบบตะวันตก
ก็ยิ่งชอบและอยากมาเล่าต่อว่า เขาไม่จำกัดตัวเองแค่คำว่า พรสวรรค์ หรือ talent
ถ้าอยากมีก็สร้างมาเอง อยากมีก็ลองทำดู เพราะอย่างน้อยเราก็จะได้รู้ว่าชอบหรือไม่ชอบ
ในขณะที่สังคมไทยเรา กลับตีกรอบให้เด็กต้องเลือกว่าจะเข้าสายวิทย์หรือศิลป์
แล้วถ้าชอบชีวะ แต่อยากเรียนภาษาที่ 3 ก็เลือกสายกันไม่ถูกเลย
แต่ที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด เขากลับบอกเด็กที่อยากเข้าเลยว่า
ตอนม. ปลายควรลงเรียนพวกฟิสิกส์ เคมี แต่ก็อย่าลืมเรียนภาษาด้วย
ซึ่งก็ไม่รู้ว่า ระบบการศึกษาไทยจะทำร้ายเราไปอีกแค่ไหน
พักนี้มีทฤษฎีเกี่ยวกับสมองออกมามากมาย หนึ่งในนั้น (ฟังจากคนเล่ามาอีกที)
เขาบอกว่า จริงๆแล้ว ความฉลาดของเรา 50 เปอร์เซนต์ มาจากกรรมพันธ์ (ก็อาจนับเป็นพรสวรรค์)
อีก 10 มาจากสภาพแวดล้อม และ อีก 40 มาจากตัวเราเอง (พรแสวงนั่นเอง)
40 อาจดูเหมือนน้อย แต่นับๆ ดูก็เกือบครึ่งๆเหมือนกันเลยนะ
ถ้าเราพยายามเติม 40 นี้ให้เต็ม
ในมุมมองของเรา
เราว่า ความสนใจของเราหรือที่ฝรั่งเรียกว่า Passion นี่แหละค่ะ เป็นตัวจุดประกายให้เราได้เริ่มทำอะไรใหม่ๆ แปลกๆ แต่เราจะเริ่มออกเดินทำตามฝันหรือไม่ ก็อาจเป็นไปตามพรแสวงของเรา
แล้วพรสวรรค์ล่ะ? สำหรับเรา เราว่าพรสวรรค์ เป็นเหมือนน้ำมันที่ทำให้การจุดประกายไฟของ Passion ติด เพราะ
งงไหม
สมมติ (เป็นเรื่องจริง)
เราเป็นคนที่วาดรูปไม่ได้ ถึงเราจะมีประกายไฟแวบๆ ว่าอยากวาดรูป แต่ไฟนี้ก็จุดไม่ติดสักที ยังไม่ต้องไปถึงเริ่มออกเดินหรือเปล่า เพราะแค่จุดไฟก็ยังไม่ติด
สาเหตุที่ไม่ติดก็คือ เมื่อนึกว่าอยากวาดรูปเก่งๆ แค่อีกเสี้ยววินาทีต่อมา ความรู้สึกก็คือไม่อยากวาด เพราะการวาดรูปของเราเป็นยาขม สมัยเรียนเคยยอมเขียนเรื่องซะยาวหลายหน้ากระดาษแทนที่ต้องจับปากกาสีวาดรูป
เราก็ไม่รู้ว่าตรงนี้เรียกว่าไม่มีพรสวรรค์หรือเปล่า แต่อย่างน้อยเราก็ได้ลองแล้วว่าไม่ชอบ เพราะเราไม่มีความสุขที่จะจับดินสอวาดรูป
ถึงตรงนี้ ก็ยังอาจแยกไม่ได้เด็ดขาด ว่าตกลงพรสวรรค์หรือพรแสวงที่สำคัญ เพราะเราก็ไม่รู้ว่า ถ้าแม่จับมือเราวาดรูปตั้งแต่เกิด เราอาจกลายเป็นศิลปินไปแล้วก็ได้ (ที่บ้านไม่มีใครวาดรูปเป็น)
แต่อยากให้รู้อย่างหนึ่งว่า
1+1 = 1
เมื่อพรสวรรค์ + พรแสวง = ชีวิตของเรา
จงออกเดินบนเส้นทางที่ฝันและปราถนา
ตามทฤษฏีของเต๋าบอกไว้ว่า
โลกนี้มีหยินและหยาง
สูงขึ้นไปหยินและหยางรวมเป็นหนึ่ง
สูงขึ้นไปอีก คืออนัตตา
ในวันนี้ ชีวิตเราก็เป็นหนึ่ง ออกเดินและพยายามบนสิ่งที่เราอยากทำ
คำว่าเสียใจเพราะไม่ได้ทำ เจ็บปวดแค่ไหน คนที่เคยเจอก็คงรู้
แต่คนที่ไม่เคยก็เหมือนนักวิ่งที่ล้มลงกับพื้นตั้งแต่ไม่ได้ออกวิ่ง
แม้เขาคนนั้น จะพร้อมแค่ไหนก็ตาม