ตอนนี้ จริงๆ ยังอ่านไม่จบ แต่อยากรีวิว…เพราะคิดว่าช่วงนี้คงหนีหายจากบล็อกไปสักพัก
เนื่องจากมีหนังสือที่อยากอ่านท่วมตัวมาก (ซีรีย์ที่อยากดูด้วย)
หนังสือเล่มนี้ เป็นแนวอะไร บอกได้เลยว่าเป็นแนว จิตวิทยา
เป็นเรื่องเีกี่ยวกับชีวิตคนที่ประสบความสำเร็จ
เขามีพื้นฐานครอบครัวอย่างไร เขาทำอะไร แล้วเขาประสบความสำเร็จได้อย่างไร
” Why do some people succeed far more than others?”
นี่คือ Theme หลักของหนังสือเล่มนี้
คนเขียนหนังสือเล่มนี้บอกว่า ถ้าจะเข้าใจว่าคนเหล่านั้นประสบความสำเร็จได้อย่างไร
เราต้องดู “ทุกอย่าง” ที่อยู่รอบๆเขาด้วย เช่นที่เกิด ครอบครัว หรือแม้แต่วันเกิด!
หนังสือเล่มนี้จะพาเราไปหาคำตอบว่าวง The Beatles กับ Bill gates มีอะไรที่เหมือนกันที่ทำให้เขาประสบความสำเร็จ ฯลฯ
นี่คือ เรื่องย่อจากปกหลัง
บทที่เราชอบมากคงหนีไม่พ้นเรื่อง 10000 ชั่วโมงแห่งการฝึกฝน ที่พออ่านจบแทบจะอยากลุกไปอ่านญี่ปุ่นทันที
เป็นเรื่องที่พูดเกี่ยวกับ คนประสบความสำเร็จอย่างบิลเกต โดยอ้างอิงผลการวิจัย ว่าทำไมนักดนตรีหลายคนถึงเป็นได้แค่นักดนตรีสมัครเล่นแต่บางคนฝีมือดีจนเป็นอาชีพได้ ทั้งๆที่คนเหล่านี้เริ่มต้นในอายุไล่ๆกัน
เหตุที่อยู่เบื้องหลังคือ คนกลุ่มแรก ที่เป็นสมัครเล่น ซ้อมกันน้อยกว่ากลุ่มหลังมาก….และกลุ่มหลังก็ซ้อมกันเยอะมากๆ เรียกว่ากว่าจะได้เป็นมือโปร เขาต้องซ้อมกันมากกว่า 10000 ชั่วโมงแล้ว
มาถึงบิลเกต ทำไมบิลเกตถึงประสบความสำเร็จ เก่งคอมพ์ ทั้งๆที่เรียนไม่จบมหาวิทยาลัย
เหตุผลไม่ใช่เพราะเขาเทพ เขาอัจฉริยะ เขาโชคดี หรือเพราะเขาลาออกจากมหาวิทยาลัย (แม้ว่าที่พูดมาจะเป็นส่วนประกอบก็เหอะ)
แต่เบื้องหลังคือ ตั้งแต่อยู่โรงเรียนที่เป็นโรงเรียนที่รวยมากๆแห่งหนึ่ง รวยขนาดในยุคนั้นมีชมรมคอมพิวเตอร์ให้เด็กได้เข้าใช้ ทำให้บิลเกตได้รู้จักกับคอมพ์และหลงรักมันตั้งแต่นั้นมา
เรื่องยังไม่จบเพียงแค่นี้ ต่อมาคอมพ์เหมือนมีปัญหาอะไรสักอย่าง ทำให้เขาไม่สามารถใช้คอมที่อยู่ที่โรงเรียนได้
แต่โชคดีที่บ้านเขาอยู่ใกล้ U of Washington ทำให้เขาสามารถเดินไปใช้คอมพ์ที่นั่นในช่วงเวลาตี 3 ถึง 6 โมงเช้าได้….ต่อมา บิลเกตจึงเล่าให้ฟังว่า นี่คือเหตุผลว่าทำไมผมถึงบริจาคเงินให้มหาวิทยาลัยมากเป็นพิเศษ
ซึ่งแน่นอนว่ากว่าบิลเกตจะถึงช่วงที่ออกมาตั้งบริษัทเอง เขาก็คงสะสมชั่วโมงได้ครบ 10000 ชั่วโมงแล้ว
แต่ถ้า เรามองดีๆ จะรู้ว่าไม่ใช่แค่ 10000 ชั่วโมงเท่านั้นที่ทำให้เขาประสบความสำเร็จ (แม้ว่านี่อาจเป็นปัจจัยหลัก) แต่เป็นเพราะบิลเกตเกิดในช่วงเวลาที่เหมาะ (คนยุครุ่นบิลเกตมักประสบความสำเร็จจากคอมพ์มาก) / บ้านมีฐานะดี ทำให้ได้เรียนโรงเรียนที่มีคอมพ์/ บ้านอยู่ใกล้ U of Washington อันนี้สำคัญ
ฉะนั้น ใครที่ชอบพูดกันว่าเรียนมหาวิทยาลัยไม่สำคัญ (แล้วก็เอาไปเปรียบกับบิลเกตบ้าง มาร์ด FB บ้าง) อยากให้ลองถามตัวเองกลับว่า คุณมีสิ่งที่ถนัดแล้วหรือยัง และคุณได้ทำสิ่งนั้นครบ 10000 ชั่วโมงแล้วหรือ?
การเรียนในมหาวิทยาลัยก็เหมือนห้องทดลองเล็กๆ ที่เราจะได้เข้าไปลองทำนู่น ทำนี่ใหม่ๆ ไปลองเรียนในสาขาที่เราเลือกและคิดว่าชอบ (ถ้าไม่คิดว่าชอบก็คงไม่เลือกจริงไหม) … แม้ว่าหลายคนจะชอบพูดก็เหอะ ว่าสิ่งที่เรียนในมหาวิทยาลัยมักไม่ได้ใช้
(นอกเรื่อง)
แต่สำหรับเรา เราว่ามหาวิทยาลัยจะไ้ด้ประโยชน์ก็เฉพาะสำหรับคนที่เห็นคุณค่าของมัน เข้ามาอย่างมีจุดหมาย ก็คือเพื่อรู้สาขาวิชานี้จริงๆ แต่สำหรับคนที่เข้ามาอย่างเลื่อนลอย อยากได้เพียงแค่ใบปริญญา สุดท้ายก็อาจได้แค่นั้น
ปริญญาเป็นแค่กระดาษใบเดียว
จะว่าจริงก็ใช่ สำหรับคนที่เข้ามาเพราะอยากได้กระดาษใบนี้เพียงใบเดียว
แต่สำหรับคนที่เข้ามหาวิทยาลัยเพราะอยากได้ความรู้ สุดท้าย สิ่งที่ได้มันก็มากกว่ากระดาษแผ่นเดียวอยู่แล้วแหละ
(เข้าเรื่อง)
10000 ชั่วโมง อาจฟังดูโหดนะ แต่สำหรับเรา ถ้ามองอีกมุม มันก็เป็นการให้กำลังใจเหมือนกัน ว่าเราสามารถทำได้ถ้าเราฝึกฝนมากพอ…ว่าแล้วก็กลับไปอ่านญี่ปุ่นต่อ
คำคมเบาๆ จากหนังสือ
“Achievement is a little of talent plus bigger preparation”
“Hard work is only a prison sentence when you lack motivation”
” Our hero is born in modest circumstances and by virtue of his own talent fights his way to greatness”
“opportunity and cultural legacy allow them to learn work hard and make sense of the world differently”
“People don’t rise from nothing”
เราชอบอีกมุมหนึ่งของหนังสือ ที่พูดถึงเรื่องเงิน เขาบอกว่า คนที่มีฐานะจน จะมีโอกาสยากกว่าคนที่มีฐานะปานกลางถึงรวย เพราะคนจนต้องเอาเวลาไปทำงานหาเลี้ยงตัวมากกว่าจะมีเวลาที่จะมาฝึกฝน (ให้ครบ 10000 ชั่วโมง) รวมไปถึงการได้รับโอกาสทางการศึกษา การได้เข้าร่วมเจอผู้คนต่างๆ ของสังคม
ชวนให้นึกถึงคำพูดของพี่คนหนึ่งที่บอกว่า “อย่ามาถามว่าเงินกับความรัก อะไรสำคัญกว่ากัน เพราะมันเป็นเรื่องเสียเวลามาก เนื่องจากมันไม่สามารถเอามาเปรียบเทียบกันได้ เงินจำเป็นในกับสิ่งที่ต้องใช้เงินซื้อ และไม่จำเป็นกับสิ่งที่เงินซื้อไม่ได้”
สิ่งที่เราชอบเกี่ยวกับหนังสือเล่มนี้ คือ “people can’t escape from their background” เราไม่สามารถหนีพื้นหลังชีวิตตัวเองได้ เพราะจากการที่เขายกตัวอย่างมาแต่ละคน อดีตล้วนมีส่วนที่ทำให้เขา คิด ทำเช่นทุกวันนี้
(นึกถึง Essay เข้ามหาวิทยาลัยของเมกาที่ชอบถามให้เล่า Background ชีวิตเราให้ฟัง เพราะเขาเชื่อว่าประสบการณ์ พื้นหลัง ครอบครัว คือสิ่งที่ทำให้เราเป็นเรา)
อีกเรื่องที่หนังสือเล่มนี้เน้นมากก็คือเรื่อง Opportunity คือคนที่ประสบความสำเร็จแต่ละคน ล้วนได้รับโอกาสที่ทำให้เขาสำเร็จ แต่ถ้าเรามองให้ลึกลงไปกว่านั้น เราจะเห็นว่า ไม่ใช่โอกาสที่ลอยมาถึงมือเขา แต่ตัวเขาเองก็ต้องวิ่งไปหาโอกาสด้วย … เหมือนพบกันครึ่งทาง เช่น บ้านบิวเกตอยู่ใกล้มหาวิทยาลัย แต่เขาก็ต้องเดินออกจากบ้านตอนกลางคืนไป 10 นาที จึงจะถึงมหาวิทยาลัย
บอกไว้ก่อน ว่าเราไม่ค่อยได้อ่านหนังสือแนวจิตวิทยามากเท่าไหร่ แต่เล่มนี้เราว่าดีเลยนะ คนเขียนเก็บข้อมูลได้ละเอียดมาก แล้วก็อธิบายชัดเจน ทำให้เราเห็นภาพคนที่ประสบความสำเร็จมากขึ้น ทำให้เข้าใจ มองเห็นมากกว่าเดิม
เราว่าหลายคนที่ได้อ่านเล่่มนี้อาจเปลี่ยนความคิด เรื่องคนนี้ประสบความสำเร็จเพราะพรสวรรค์ เพราะโชคชะตาไปเลยก็ไ้ด้ เพราะเบื้องหลังมันละเอียดมากกว่านั้น มันเกิดจากองค์ประกอบมากมายหลายร้อยอย่างที่ทำให้คนๆหนึ่ง ประสบความสำเร็จในสิ่งที่เขาต้องการ ♥
คะแนน
เนื้อหา 5/5
ความสนใจ ส่วนตัว 4/5 (หัก 1 เนื่องจากส่วนตัวเราไม่ได้สนใจเรื่องประสบความสำเร็จมากขนาดนั้น)
(เดี๋ยวจบเล่มนี้ จะอ่าน Understanding of our mind ของท่าน ติช นัท ฮันท์ ต่อ)
อยากอ่านอยู่พอดีเลยค่ะ แต่หาที่ร้านหนังสือไม่มีเลย อยากอ่านจัง
เห็นพี่บอกว่าจะอ่านหนังสือของหลวงปู่ ติช นัท ฮันท์ต่อ อยากบอกว่าดีมากๆๆๆเลยค่ะ เคยอ่านอยู่เหมือนกัน 🙂