ความแตกต่าง การศึกษาไทย Vs อเมริกา 1 (admission)

บอกไว้ก่อนว่าที่เลือกอเมริกาเพราะนอกจากไทยแล้วก็เป็นอีกหนึ่งประเทศที่เรารู้จักการศึกษาเขาค่อนข้างดี เราไม่ใช่คนที่บ้าเห่อเมกา ว่าเขาดีหมดทุกอย่าง (ถ้าใครตามบล็อกเรามานานคงรู้ว่าเราชอบเกาหลีและญี่ปุ่นเนอะ)

เพราะอีกสิ่งหนึ่งที่เป็นความผิดพลาดของคนที่ชอบพูดว่า “อเมริกาเขาทำอย่างนั้น อย่างนี้ เราก็ควรทำตามบ้าง” โดยไม่คิดถึงปัจจัยอื่นๆ แสดงว่าคนๆ นั้นไม่รู้จักอเมริกาดี

ทีนี้ มาดูกันดีกว่า ว่าการศึกษาไทยกับอเมริกา มีข้อดี ข้อเสียและข้อแตกต่างอย่างไร มาดูกัน

ระบบ Admission (โดยรวม)

Thai เน้นคะแนนสอบเป็นหลัก เรียกได้ว่าถ้าเราทำคะแนนได้เยอะ ก็มีสิทธิได้เรียนในที่ๆ เราอยากเรียน

US สอบเข้ามหาวิทยาลัย ใช้หลายอย่างมากๆ ตั้งแต่เกรด คะแนนสอบ เรียงความ กิจกรรม จดหมายจากอาจารย์ ทำให้ยากมากๆ ที่จะเห็นเด็กเมกาเรียนอย่างเดียว (เพราะถ้าเรียนอย่างเดียวก็คงไม่ได้มหาวิทยาลัยดีๆ หรอก) ยิ่งถ้าเป็นมหาวิทยาลัยดังๆ อย่างพวก Harvard ฯลฯ ไรงี้ เขาเน้นทั้ง GPA ต้องดี SAT ต้องสูง Essay ต้องสะท้อนความคิด ประสบการณ์ความมุ่งมั่น กิจกรรมนอกห้องเรียนต้องเริศ .. คือเยอะอ่ะ

เรื่องระบบ Admission ไทย เราเห็นหลายคนที่ชอบบอกว่า เด็กไทยเรียนอย่างเดียว ต้องแข่งกันเรียน กลายเป็นคนบ้าเกรด กวดวิชา ต้องได้คะแนนเยอะๆ ระบบ Admission มันแย่!

ทีนี้ มาดูทีละข้อกล่าวหาดีกว่า

เด็กไทยเรียนอย่างเดียว ーก็อาจจริง เพราะกิจกรรมไม่ได้ทำให้เราติดมหาวิทยาลัยที่อยากเรียนนิ แต่ อย่าลืมว่าการทำกิจกรรม โดยเฉพาะกิจกรรมอื่นๆ นอกโรงเรียน (ที่ไม่ใช่กีฬาสี) มันจะทำให้เรารู้จักตัวเองมากขึ้น และรู้ว่าจริงๆ แล้วเราอยากเรียนคณะอะไรกันแน่ จะได้ไม่ต้องซิ่ว หรือทรมานใจนั่งเรียนสิ่งที่ไม่ชอบ 4 ปี…เพราะอย่าลืมว่าเราย้ายคณะเรียนไม่ได้ (แต่เมกาทำได้จ้ะ)

ต้องแข่งกันเรียน ーข้อนี้ได้ยินคนบ่นๆ กันเยอะ มันอยู่ที่ว่าคำว่า “แข่ง” เขาจำกัดความไว้แค่ไหน ต้องเรียนดีกว่าเพื่อน? ต้องเรียนให้ได้คะแนนสูง?

เราว่าอยู่ที่ไหนบนโลกนี้ มันก็แข่งกันหมดแหละ เด็กอเมริกันเขาก็แข่งกันเข้าเหมือนกันนั่นแหละ แต่ที่เมกาอาจรู้สึกเหมือนแข่งน้อย เพราะมหาวิทยาลัยเขามีเยอะ มันก็เลยดูกระจัดกระจาย ในขณะที่ไทยมีมหาวิทยาลัยน้อยกว่า เรามองไปทางไหนก็เลยเจอคนที่อยากเข้าที่เดียวกับเราเต็มไปหมด

บ้าเกรด?- เกรดคือสิ่งที่กำหนดความตั้งใจเรียน (แม้ว่าแต่ละโรงเรียนจะให้เกรดไม่เท่ากันก็เหอะ) แต่ถ้าใครอ่านข้างบนก็จะรู้ว่าจะเข้ามหาวิทยาลัยในเมกาก็ต้องใช้เกรดเหมือนกัน ยิ่งเป็นระดับท็อปๆ ส่วนมากต้องได้ 3.5++ ใครน้อยกว่านั้น บางที่เขาแทบไม่อ่านใบสมัครเลยด้วยซ้ำ

ดังนั้นเด็กอเมริกันเขาก็ตั้งใจเรียนมากๆ (คนที่อยากเข้ามหาวิทยาลัยดีๆ) และไม่ตั้งใจ (ไม่ค่อยสนใจเรื่องเรียน) ซึ่งมันก็แล้วแต่คน แต่แน่นอนว่าวิชาเรียนเขาน้อยกว่า แต่จริงจังกว่า และการบ้านเยอะกว่านะ (ถ้านับเป็นรายวิชา) แต่การบ้านเขามีสาระมากกว่าการให้ทำเรื่องซ้ำๆ น่าเบื่อๆ และไม่ได้สาระ

กวดวิชา ー อีกหนึ่งเรื่องที่คนไทยมักเข้าใจผิด (รวมถึงเราด้วย) ก็คือ เรามองว่าการกวดวิชาเป็นสิ่งที่ไม่ดี ควรขจัดมันออกไป…แม้ว่าเราจะกวดกันก็เหอะ แต่คนเมกาเขาจะมองว่า การกวดวิชาเป็นเรืองดีนะ เท่ากับเรารู้ว่า เรามีจุดอ่อนในเรื่องไหน แล้วเราก็พร้อมที่จะปรับปรุง…แต่แค่ต้องไม่ใช่กวดวิชาอย่างเดียว ต้องมีเวลาไปทำกิจกรรมบ้างเท่านั้นเอง

ต้องได้คะแนนสอบเยอะๆ ーข้อนี้ คนเมกาก็ไม่ต่างนะ ช่วงจะสอบ SAT แต่ละคนก็เหนื่อย เพลีย เครียดเหมือนกัน อย่าง SAT เขามีคำกล่าวไว้เลยว่า ถ้าอยากได้มหาวิทยาลัยดีๆ ต้องได้ SAT คะแนนสูงๆ แต่ SAT คะแนนสูงๆ ไม่ได้รับรองว่าจะได้มหาวิทยาลัยดีๆ =_=

เพราะมันยังมีองค์ประกอบอีกหลายอย่าง….

แต่เรื่องข้อสอบนี่ เด็กไทยอาจแย่กว่า เพราะต้องสอบวิชาประหลาดๆ ที่เรียกว่า O-net เป็นข้อสอบที่เราไม่เคยเอาไปพูดกับใคร บอกตามตรงว่าอาย กับข้อสอบวัดความรู้เข้ามหาวิทยาลัยแต่ต้องมาตอบว่า “ปลูกฝังความเป็นไทยต้องดูละครเรื่องใด”

ระบบ Admission ไทยมันแย่!อันนี้เราไม่เถียง เราไม่ชอบที่มันเปลี่ยนไปมา คือไม่เข้าใจว่าจะเปลี่ยนทำไม (ยิ่งเปลี่ยนก็แย่ลงเนอะ) แถมไม่เคยมีกำหนดการออกมาแน่ชัด ในขณะที่การสอบ SAT ของเมกา มีกำหนดออกมาแน่ชัด รวมไปถึงการยื่นมหาวิทยาลัย กี่ปีๆ ก็ไม่มีเปลี่ยน

อย่าง SAT ก็ใช้ข้อสอบรูปแบบนี้ มาไม่เคยเปลี่ยน เป็นระบบง่ายๆ ใช้ดินสอ 2B วงกลมคำตอบที่ถูกที่สุดเพียงข้อเดียว สไตล์ด้านในก็ไม่เคยเปลี่ยน

แล้วข้อสอบ SAT ขออเมริกานอกจากใช้เข้ามหาวิทยาลัยแล้ว เขายังใช้ทำวิจัยด้วยเช่นว่า เด็กเชื้อชาติอะไรทำข้อสอบได้คะแนนมากสุด รายรับครอบครัวเท่าไหร่ได้เยอะ มาจากรัฐไหน โรงเรียนเอกชนหรือรัฐบาล ฯลฯ

ไม่เหมือน O-net นอกจากจะวัดอะไรไม่ได้แล้ว แค่ความรู้ยังวัดไม่ค่อยได้เลย (รุ่นเราคือรุ่นเตะบอล…อีบร้า)

แต่จะให้ทำระบบ Admission เหมือนเมกา เราว่ายาก เพราะเมกาถึงมันจะดูชัดเจน แต่มันก็ดูกำกวมนะ (ทุกวันนี้ก็ยังไม่รู้ว่าทำไมเขาถึงรับ) เพราะเขาจะใช้ทั้งคนทั้งคอมพ์ ในการตัดสิน คนก็ต้องอ่าน Essay อ่าน Recommend

สุดท้าย เด็กเมกันระหว่างรอคะแนน เขาก็เครียดเหมือนๆ กับเรานี่แหละ เมื่อก่อนเราก็เคยคิดว่าพวกมันคงไม่เครียดกันหรอก…แต่พอได้คุย ได้เห็นรุ่นน้อง(ที่เป็นเมกัน) ช่วงอยู่เกรด 12 มันก็เครียดสุดๆ เหมือนกันนะ ^_^

สำหรับแอดมิชชั่นของไทย จะเราก็ไม่ค่อยมีความเห็นอะไรมาก แต่ยังไง ก็ขอบคุณการศึกษาไทยและข้อสอบโอเน็ตประหลาดๆ ที่ทำให้เราขอพ่อกับแม่ไปเรียนต่ออเมริกาได้ง่ายขึ้นอีกเป็นกอง…

Advertisement

Comments are closed.

Create a website or blog at WordPress.com

Up ↑

%d bloggers like this: