10 เรื่องที่คนไทย (อาจ) เข้าใจผิดเกี่ยวกับ (วัยรุ่น) อเมริกัน

จากประสบการณ์ของเรา อาจเป็นส่วนน้อยหรือส่วนมาก แต่ก็เป็นสิ่งที่คนไทยควรรู้ว่า โดยเฉพาะคนที่ชอบพูดคำว่า “อเมริกัน เขาทำอย่างนั้นอย่างนี้”

อาจไม่ใช่วัยรุ่นอย่างเดียว แต่รวมไปถึงคนอเมริกันด้วย

1. พอจบ high school ก็ออกจากบ้าน ทำงานเลี้ยงตัวเอง

มันก็มี บางส่วน แต่ถ้าพ่อแม่ส่งเสียได้ (เพราะค่าเทอมมหาวิทยาลัยเอกชน หรือเรียนนอกรัฐตัวเอง โคตรแพง) ส่วนมาก เพื่อนในมหาวิทยาลัยเราพ่อแม่ก็ออกค่าเทอมให้ทั้งนั้น บางคนก็พ่อแม่ช่วยบางส่วน ส่วนตัวกู้เรียน มันไม่ได้เป็นธรรมเนียมเท่าไหร่ว่าพอจบม.ปลาย ก็ให้ออกจากบ้าน

อาจารย์เราบอกว่าสมัยก่อนสัก 50 ปีที่แล้วมีเยอะ ที่พอจบม.ปลายก็ออกจากบ้าน แต่เดี๋ยวนี้น้อยลงเรื่อยๆ วิธีการเลี้ยงดูลูกเริ่มเหมือนตะวันออกมากขึ้น อย่างเพื่อนเราเข้าหอ พ่อแม่ก็ขับรถมาส่ง กอดลากันนานนนนน (ทั้งที่เดี๋ยววันหยุดสุดสัปดาห์ เดี๋ยวพ่อแม่ก็มารับกลับบ้านแล้ว) ก็มี

พ่อแม่ แบบเว่อร์ๆ (จริงๆ ก็ไม่เว่อร์หรอก แต่ฝรั่งชอบเว่อร์) ประเภทแบบ so sad ต้องจากลา น้ำตาปริมๆก็มีนะ เห็นอยู่ 55 แต่บางคนยังไม่ทันจบไฮสคูล ต้องออกจากบ้านไปทำงานเลี้ยงตัวเองด้วยเหตุผลบางอย่างก็มี

2. คนที่หน้าเอเชียมาจากเอเชียจริงๆ

เพราะเขาอาจเกิดที่นี่ เป็นเจน 2 เจน  3 ด้วยซ้ำไป ไม่ต้องไปซักไซ้ว่าพื้นเพเขามาจากไหน เพราะบางคนอาจไม่ได้อยากบอก ฉะนั้น ถ้าเจอหน้า อย่าไปเซ้าซี้ถามซ้ำๆ ว่า Where are you from?  (ทั้งที่เขาเพิ่งตอบว่าเขามาจากนิวยอร์ก แอลเอ หรืออะไร) และที่สำคัญคือบางคนหน้าเอเชีย แต่พ่อแม่เป็นคนผิวขาว (งงอ่ะดิ) เพราะอาจถูกรับเป็นลูกบุญธรรมก็ได้ (รูมเมตเราตอนปี 2 ก็เป็นเคสลูกบุญธรรม)

3. โรงเรียนอเมริกัน อิสระ

อิสระ จริง แต่ก็มีกฎ แต่กฎหรือสิ่งที่เขาให้ความสำคัญ มันต่างกับที่ไทย ความรู้สึกเราคือ การศึกษาไทยให้ความสำคัญกับเปลือกมากไป เช่นการแต่งกาย ฯลฯ ซึ่งบางทีมันก็มากไป จนลืมว่าแท้จริง เรามาโรงเรียนเพื่ออะไร ในขณะที่คนโดดเรียน แอบหนีออกนอกโรงเรียน หรือลอกรายงานจากอินเตอร์เน็ตมาส่งไม่โดนอะไร

คือ ส่วนตัวเราเข้าใจ ว่าจับนักเรียนเพราะแต่งกายผิดระเบียบมันง่าย กว่าการไปยืนตามจับนักเรียนโดดเรียนหรือการเช็กรายงานว่าลอกใครเขามาหรือเปล่า มันก็เหมือนกับการแยกส้มด้วยสีผิว หรือการแยกส้มด้วยคุณภาพจริงๆ แน่นอน ว่าอย่างแรกมันง่ายกว่าอยู่แล้ว

โรงเรียนอเมริกัน ให้ความสำคัญเรื่องการเข้าเรียนตรงเวลา คุณภาพของการบ้าน รายงานที่ส่ง ห้ามลอกเด็ดขาด (มีสิทธิ์โดนไล่ออกได้เลยนะ) รวมถึงการเรียน วิชาถึงจะเลือกลงได้เองซึ่งก็อิสระมาก แต่ก็จะมีกำหนดว่าต้องเรียนอะไรบ้าง (เช่นต้องเรียนภาษาที่สอง สองปี ฯลฯ) แต่ก็เลือกเรียนวิชาที่จำเป็น ถ้าเป็นวิชาพวกลูกเสืออะไรงี้ จะให้เป็นวิชาเลือก

ทุกอย่างในอเมริกาก็ยังมีกฎแค่โฟกัสต่างกันเท่านั้นเอง

4. ตรงเวลา = เครียด

ถ้ามาที่นี่ จะรู้สึกว่าคนที่นี่เขามีตารางเวลาของตัวเองมาก จะนัดกันทีนี่คือแบบ… ขอดู schedule ก่อนนะ ตอนมาใหม่ๆ ก็แบบ เห้ย มันจะ busy ไรนักหนาวะ แต่ตอนนี้มองตัวเอง อ้าว ก็เป็นเหมือนกัน

ต่างกับที่ไทยที่เรารู้สึกว่าคนส่วนมากจะว่าง (แต่พอนัดกลับไม่เคยมาตรงเวลาสักที) ที่นี่คือคนแบบตรงเวลา ทั้งเข้าเรียน นัดเจอ (ยกเว้นรถเมล์ กับรถไฟใต้ดิน)

ถามว่าเครียดไหม เราเครียดน้อยกว่าตอนอยู่ไทยอีก เพราะเราสามารถกะทุกอย่างได้แบบเป๊ะๆ แล้วเวลาประชุม หรืออะไรกัน ก็จะพยายามใช้เวลาให้น้อยสุด ไม่มีเล่น (คือก็มีคุยขำๆ บ้าง) แต่ไม่ได้มัวแต่เล่นจนทำให้งานเสร็จช้าลง ก็คือเขาจริงจัง ให้มันเสร็จๆ ไป (อาจเป็นเพราะเขาจำกัดความสัมพันธ์ของ Classmate  กับ Friend ต่างกัน ในขณะที่คนไทยก็เห็นว่าทุกคนเป็นเพื่อนเหมือนกัน)

5. ฟรีเซ็กส์

คือ มันก็ไม่ได้มั่วขนาดนั้น =_=

พวกทีมั่วแบบวันไนท์สแตนท์ สปาร์คกันตามผับไรงี้ก็มี แต่ใครว่าที่ไทยไม่มี อย่าเถียง 55

ยอมรับว่ามันก็มี แต่ว่าจำนวนก็อาจพอๆ กับไทยด้วยซ้ำ แค่ที่นี่ เขากล้าพูดออกมามากกว่า (เช่น ตอนปีหนึ่ง มันก็มีเกมส์ตอนรับน้อง แบบยืนเป็นวงกลม ใหญ่ๆ แล้วก็มีคำถาม.. มีคำถามหนึ่งว่า ใครยังเวอร์จิ้นอยู่ ให้ออกมายืนตรงกลาง ก็มีสักหกสิบ เจ็ดสิบ เปอร์เซนต์ได้) นึกถึงเด็กปีหนึ่งที่ไทย ถ้าเล่นเกมส์นี้ คงออกมายืนตรงกลางทั้งหมดมั้ง 55

แล้วอีกอย่างคืออย่างเรื่องอยู่ด้วยกัน (แบบอยู่กินชายหญิง) ในระดับปริญญาตรี เอาจริงๆ ฝรั่งมันไม่ค่อยอยาก move in มาอยู่ด้วยกันนะ เพราะมันต้องการพวกความต้องการเป็นส่วนตัวระดับหนึ่ง (privacy คนเมกัน มันจะมีสูงกว่าคนไทยอยู่แล้ว โดยพื้นฐาน) คือถ้าไม่ได้แบบรู้จักกันมาสักระยะ ก็ไม่ย้ายขนเสื้อผ้ามาอยู่ด้วยกันหรอก (มาค้างคืน ค้างกลางวันอีกเรื่องนึงนะ 55)

แต่เอาจริงๆ ถ้าจะนับนักศึกษาพวกที่อยู่กินกันแบบ ผช หรือ ผญ ขนเสื้อผ้า ข้าวของมาอยู่ด้วยกัน เราว่าคนไทยเยอะกว่านะ ส่วนมากเด็กป.ตรีที่อยู่เมกันแล้วแบบอยู่กินกะแฟน (แฟนส่วนมากรู้จักกันตั้งแต่ ม.ปลาย) เป็นเด็กเอเชียนะ เกาหลี ญี่ปุ่น จีนเลยไรงี้

ตอนแรกก็แบบตกใจนะ เฮ้ย! แกเป็นคนเอเชียนะ 55 (คิดในใจ) แต่คิดอีกทีมันก็เป็นเรื่องของเขา ชีวิตของเขาเนอะ อยู่ๆ ไปก็ชิน แต่เราก็รู้นะ ว่าเวลาพูดเขาก็ไม่ได้สะดวกใจที่จะพูดว่า “อยู่กิน” กับผู้ชาย ตอนเพื่อนคนจีนคนนึงมันพูด (ยังไม่สนิทกัน) มันก็ต้องยกแม่น้ำมาล่อ ว่าแบบ คือเราอยู่ด้วยกันจริง คือแบบ เราจะแต่งงานกันแล้ว บลาๆ คือเขาคงคิดว่าเราแคร์เรื่องนี้ไง

บอกได้เลย ว่าไม่ใช่แคร์หรือไม่แคร์นะ แต่ชิน =_=

เราว่าก็อาจไม่ใช่เป็นเรื่องของวัฒนธรรม “อเมริกัน” แต่เป็นไลฟ์สไตล์ของวัยรุ่นบางส่วนหรือเปล่า

6. คนอเมริกันวัตถุนิยม…

เราว่าก็เป็นเหมือนกันหมดทุกชาตินั้นแหละ แถมๆ คนไทยบางคนอาจเป็นมากกว่าด้วยซ้ำ คือคนที่นี่ เรื่องเสื้อผ้า เครื่องแต่งตัว เขาไม่ค่อยเห่อแบรนด์นะ (ก็อาจมีบ้าง) แต่แบบ เหมือนเขาจะให้ความสำคัญกับความสวยงามจริงๆ ของมันมากกว่า ป้ายแบรนด์

แต่คนเมกัน เอาจริงๆ มันมีความโลกสวยน้อยกว่าคนไทยระดับหนึ่ง แล้วก็แบบอยู่ในโลกของความเป็นจริงมากกว่าหน่อยนึง คือแบบ อาจเป็นเพราะว่าเด็กเมกัน มันทำงานตั้งแต่มหาลัย ก็รู้ค่าของเงิน รู้ว่าเออ อยากโลกสวย มีงานในฝันทำไรงี้ก็ได้ แต่ก็ต้องทำเงินได้นะ

คือเราไม่รู้ทำไม เรารู้สึกว่าเด็กไทยรุ่นใหม่ (รุ่นเรานี่แหละ) จะมี 2 แบบ คือ “งานในฝัน เงินไม่สน ฯลฯ” กับ “ทำยังไงให้รวยคะ”

อีกอย่างหนึ่งคือ เมกันโดยส่วนมากนะ ไม่ได้มองว่าต้องหิ้วแบรนด์เนม รองเท้าแพงๆ หรือใช้พวกเครื่องประดับ เพื่อเพิ่มคุณค่าตัวเอง อันนี้เป็นอะไรที่เราชอบมาก แต่ตรงนี้เราว่าไม่ใช่แค่สังคมไทย แต่เป็นค่านิยมเอเชียมากกว่า….

คำถามที่เจอบ่อยเหมือนกันสำหรับน้องใหม่ที่กำลังจะมาเรียนอเมริกา ว่าไปอเมริกาแต่งตัวยังไงดี ไปเรียนแต่งตัวยังไงดี บอกได้ว่าขึ้นอยู่กับมหา’ลัย ถ้าไปอยู่แมนฮันตัน NYC ก็อาจดูดีนิดนึง แต่ถ้ามหา’ลัยทั่วไป ทุกวันนี้ก็เสื้อยืด เสื้อหนาว กางเกง ผ้าใบ สะพายเป้

7. คนอเมริกันอยู่ดีกินดี (พูดง่ายๆ คือรวย)

ถ้าคนทำงานก็ใช่ค่ะ เงินเดือนดีกว่าที่ไทย แต่ค่าใช้จ่ายบางอย่างก็แพงกว่า แต่คนโฮมเลส คนจนก็ยังมีเยอะแยะ จะไปขอทาน หรือขอตามแผงขายอาหารเหมือนที่ไทย ก็เหมือนไม่ค่อยมีใครให้ซะด้วย อากาศหนาวก็แทบไม่มีที่ให้อยู่ ประกันสุขภาพก็ไม่มี ป่วยก็ไม่มีเงินไปรักษา ค่าหมอโคตรแพง อยากเตือนสักนิด ว่าบางอย่างที่อเมริกา ก็ไม่ได้ถูกเสมอไป และคนไม่มีเงินก็อยู่ยาก เหมือนกัน

8. อเมริกาน่ากลัว ก่อการร้ายเยอะ

แต่ ความรู้สึกเราคือพอๆ กับอยู่ไทย ก็ต้องระวังตัวเหมือนอยู่ไทย รู้ว่าที่ไหนไม่ควรไปตอนกลางคืน ฯลฯ คือมันไม่ได้น่ากลัวกว่ามากขนาดนั้นหรอก บางทีมันก็มีบางพื้นที่ที่คนเอเชียไม่ควรเดินตอนกลางคืนอะไรอย่างนี้ อยู่ไปสักพักก็จะรู้เองค่ะ

9. เหยียดสีผิว

อยากบอกว่า มันมีด้วยการทุกชาติ การเหยียดสีผิว อย่าปฎิเสธว่าที่ไทยไม่มี ถ้าคุณเป็นคนไทย ลองถามตัวเองว่าคุณคิดยังไงกับคน แขก เขมร ลาว พม่า เจ๊ก(จีน)….เราเชื่อว่าคนบางส่วน (หรือส่วนมาก) ก็มีภาพแง่ลบของคนเหล่านี้อยู่ในหัว มันเป็นเรื่องธรรมดาที่เราตัดสินคนจาก Stereotype แต่คนอเมริกัน จริงๆ เขาถูกสอนให้ไม่เหยียดสีผิว…ถ้าเทียบกับอดีตก็ดีขึ้นนะเราว่า

แล้วเรื่องที่เคยมีคนบอกว่า ในอเมริกา คนผิวขาวเป็นอันดับหนึ่ง ผิวดำ แม็กซิกัน ฯลฯ แล้วก็เอเชียอยู่อันดับสุดท้าย (โดนจัดอยู่ระดับต่ำสุด) ขอบอกว่าโคตรไม่จริง… ตอนเราได้ยินก่อนมาเมกา ก็ตกใจมาก แต่พอมาก็ไม่เห็นว่ามันจะมีอะไร เรื่องคนผิวดำทำร้ายคนเอเชีย (ที่ได้ยินบ่อยๆ) มันก็ไม่ได้เกี่ยวกับว่าเป็นคนเอเชียแล้วจะโดนเหยียดสีผิวเยอะกว่า (แค่คนเอเชียไม่ใช่คนก้าวร้าวไง)

แต่เราก็ไม่รู้ว่าถ้า ต้องไปอยู่ในเมืองที่มีแต่คนขาว หรือไม่มีเอเชียจะเป็นยังไง เพราะทุกวันนี้ เราอยู่ในบอสตัน ใกล้ไชน่าทาวน์ ซึ่งมีคนเอเชียโคตรเยอะ ก็เลยไม่ค่อยเจอเหยียดสีผิวเท่าไหร่ ถ้าให้ต้องย้ายไปเมืองไหน ก็ยังคงย้ายไปอยู่เมืองที่เอเชียเยอะๆ เหมือนเดิม…บอกตามตรง ก็ยังกลัวอยู่ 55

เอาจริงๆ คนเมกัน ถ้ามีการศึกษา (ป.ตรีขึ้น) เขาจะไม่พูดดูถูกเรื่องเชื้อชาตินะ (เรื่องศาสนามาก) ในใจเป็นไงเราไม่รู้ แต่เขาไม่แสดงออกเด็ดขาดว่าเหยียด เป็นเรื่องที่โคตรเซนซิทีฟ คือแบบบางอย่างเรายังไม่เคยคิดเลยว่านี่คือการเหยียด (หรือเราเป็นพวกไม่เซนซิทีฟ) ฝรั่งเพื่อนเราแบบ โอ้ ทำไมคนนั้นทำอย่างนี้ มันแย่มาก บลาๆ เจออย่างนี้หลายครั้งด้วย 55

10 คนอเมริกันไม่มีความสุข

อยากถามกลับมามากว่า แล้วคิดว่าคนไทยมีความสุขกัน “จริงๆ” หรือเปล่า

คนเป็นหนี้ (ก็เหมือนจะมีเยอะ) คนทำผิดก็หยวนๆ กันไป ชีวิตไม่รีบชิลๆ ง่ายๆ งานไม่เสร็จก็ชิล มาไม่ตรงเวลาก็ “ไม่เป็นไร”  “ยังไงก็ได้”

บางคนเขาจำกัดความคำว่า ชิลๆ สบายๆ ไว้ว่า ไม่มีความรับผิดชอบ = เห็นแก่ตัว

ใครจะยังไงไม่สน ฉันสบายๆ ไม่สนใจ มีความสุขดี = เห็นแก่ตัว

แล้วคิดว่าสังคมที่มีแต่คนเห็นแก่ตัว มันคือสังคมที่มีความสุขหรือเปล่า

จริงๆ เราจะบอกว่า ไม่ใช่ว่าการเป็นคนชิลๆ ไม่เครียด ไม่ใช่เรื่องที่ไม่ดี

มันดีต่อจิตใจเราแน่ๆ แต่ในทางพฤติกรรม ในสิ่งที่เราทำ มันยังต้องคำนึงถึงส่วนรวมเอาไว้บ้าง ไม่ใช่เอะอะอะไรก็หยวนๆ กันไป ให้อภัย ชิลๆ

ส่วนตัวเรามองว่าเรื่องความสุขเป็นเรื่องส่วนตัว

ความเห็น

เรามองว่าที่ไหนดีไม่ดี เป็นเรื่องส่วนบุคคลมากๆ นะ ไม่งั้นทำไมถึงมีคนที่จบเมกามีโอกาสทำงานที่ดีๆ ถึงเลือกกลับไทย หรือคนไทยบางคนที่ยอมมาเมกา เพื่อทำงานที่หนักๆ ที่นี่ ทุกอย่างครึ่งหนึ่งคือความพยายามมา ความตั้งใจที่จะเลือกอยู่ ส่วนอีกครึ่งหนึ่งก็แล้วแต่โชคชะตาจะพาเราไป

Advertisement

4 thoughts on “10 เรื่องที่คนไทย (อาจ) เข้าใจผิดเกี่ยวกับ (วัยรุ่น) อเมริกัน

  1. Janeassama <<< ชาตินิยมขั้นโคม่า

    เท่าที่อ่านมายังไม่เห็นว่า จข.บทความจะเอนเอียงไปทางอเมริกาตรงไหน เขาเขียนเรื่องจริงทั้งนั้น แสดงว่า Janeassama ไม่เคยไปอเมริกาล่ะสิ ใช่มั้ย?? -_-

    คนไทยถูกฝังหัวให้ยึดติดกับความเป็นไทย (ซึ่งได้อิทธิพลรับมาจากมอญ ขอม จีน ญวณ อินเดีย 555) มากเกินไป จนไม่มี critical thinking ในหัว พอได้ยินคนพูดถึงด้านแย่ของประเทศตัวเองก็จะดิ้นพล่านเป็นไส้เดือนถูกขี้เท่า

    ไม่แปลกใจทำไมประเทศมันไม่พัฒนา ก็เพราะคนในชาติไม่ยอมรับข้อเสียเลยไม่มีการเปลี่ยนแปลงใดๆไง

  2. ชอบนะเนื้อหาของคุณที่นำเสนอ ให้ความรู้ดี แต่การสื่อความหมายออกมาดูเหมือนจะค่อนข้างเอียงเอียนไปทางอเมริกามากกว่า และที่ไม่ชอบคือ…ด่าการศึกษาไทย เราชอบนะที่เขาตรงเวลา สนใจการเรียนมากกว่า สอนไม่ให้สนใจเรื่องสีผม อะไรต่างๆนานา แต่แบบอ่านการเขียนของคุณแล้วเหมือนลืมกำพืชตัวเอง อเมริกันดีอย่างงั้นอย่างงี้ เราก็ชอบเหมือนกัน แต่อย่าเอาไปเปรียบเทียบเลย จะนำเสนอก็นำเสนอไป อย่าพาดพิง บ้านเกิดตัวเองลืมแล้วหรอ?

    1. ถ้าเราไม่รู้จักยอมรับความจริงว่าการศึกษาไทยมันเเย่ มันก็คงจะเเย่เหมือนตลอดไม่เปลี่ยนเเปลง เพราะเราไม่รู้จักใส่ใจหรือรู้ตัวว่ามันเเย่จริง อ่อเเล้วก็ ไปด่าเค้าว่าลืมกำพืช คิดว่ามันถูกเเล้วเหรอคะ อย่าทำตัวคลั่งชาติโอเว่อออ เเอกติ้ง ไปหน่อยเลยคะ ก็เพราะมันเเย่จริง มันเลยสมควรถูกเปรียบเทียบอยู่เเล้วคะ เเล้วคนเขียนเค้าบอกตอนไหนคะว่า อเมริกาดีกว่าไทย? อย่าคิดมากซิคะ เค้าเเค่ต้องการนำเสนอว่าอเมริกาต่างจากไทยตรงไหน ถามจริงได้อ่านที่เค้าเขียนหมดไหมคะ เชื่อเลยว่าคนไทยอ่านหนังสือไม่เกิน 7 บรรทัดจริงๆ 555

Comments are closed.

Create a website or blog at WordPress.com

Up ↑

%d bloggers like this: