โลกวัตถุนิยมกับการยอมรับในสังคมไทย

fashion

หลังจากได้ดูเจาะใจ ตอน ทำไมถึงต้อง “ขายตัว” ไป เป็นอีกหนึ่งตอนที่น่าสนใจมาก แม้ประเด็นหลักที่พูดถึงคือเรื่อง ทำไมผู้หญิงไทย โดยเฉพาะวัยรุ่นถึงมาขายตัว แต่เนื้อหากลับสะท้อนค่านิยมในสังคมไทยหลายอย่างออกมาให้เห็นชัด โดยเฉพาะการต้องการเป็นที่ยอมรับในสังคม

และที่น่ากลัวก็ คือมันดูเหมือนว่า การยอมรับในสังคมไทยจะเกิดขึ้นได้ คือต้อง (ดู) “มีเงิน”

ที่ใช้ คำว่า “ดู” เพราะเหมือนเราจะไม่ได้สนใจว่าแท้จริงแล้วเขาเป็นคนรวย คนจนแค่ไหน เขามีรายรับเท่าไหร่ ประกอบอาชีพอะไร แต่เราสนใจเฟอร์นิเจอร์บนร่างกายเขามากกว่า

ง่ายๆ คือเราสนใจผลลัพธ์มากกว่ากระบวนการ

เราสนใจเปลือกมากกว่าคุณค่าที่แท้จริง

ในฐานะคนหนึ่งที่เติบโตมากับสังคมไทย 18 ปีเต็ม ก่อนจะบินข้ามน้ำข้ามทะเลมาเรียนที่อเมริกา ก็คงบอกว่าสิ่งเหล่านั้นเป็นความเคยชิน เรารู้สึกว่าคนนั้นแต่งตัวสวย หิ้วของแบรนด์เนม อัพรูปชีวิตหรูๆ ดูดี ดูไฮโซ น่าอิจฉาจัง แต่เราไม่เคยถามตัวเองกลับเลยสักครั้ง ว่าทำไมสิ่งเหล่านั้นทำให้เรารู้สึกว่าชีวิตคนนั้นดี ทำไมคนๆ นั้นถึงเหมือนถูกสังคมยอมรับมากกว่าคนแต่งตัวธรรมดาๆ ไม่มีแบรนด์เนม (ก็มันดีนิ ชีวิตเขาดูดี)

ใช่ ส่วนตัวเราเองก็ไม่เคยตั้งคำถามเหล่านั้น เพราะเราก็รู้ว่าเออ ใช่ มันดี มันสวยงาม มันน่าอยู่จนอยากเอาตัวเองไปสิงร่างเขาในบางทีด้วยซ้ำ

จนกระทั่ง เรามาอยู่อเมริกา…เวลาผ่านไปปีกว่า กับวัฒนธรรมใหม่ และการพบเจอสิ่งใหม่ๆ ทำให้เราเริ่มกลับมาย้อนคิด

หากพูดถึงระดับนักศึกษา ในสังคมไทย ถ้าเพื่อนในชั้นรวย (หรือดูรวย) เชื่อว่าจะเป็นหัวข้อให้เมาท์มอย แต่เชื่อไหมว่าในอเมริกาแล้ว คนที่หิ้วของแบรนด์เนม (กระเป๋า/รถ) กลับไม่ได้มีคนสนใจเท่าไรนัก เคยมีเพื่อนคนนึงในห้อง (เป็นคนเอเชีย) นางแต่งตัวแบบจัดเต็มมาเรียนมาก แบรนด์ทั้งตัว เหมือนหลุดออกมาจากนิตยสาร คนในห้องทั้งหมดก็ไม่ได้สนใจ มีเพียงส่วนน้อยที่มองด้วยสายตาแปลกๆ

ต่างกับถ้าเป็นของแปลกๆ เสื้อเก๋ๆ (ไม่ต้องแพงก็ได้) อย่างเสื้อจตุจักรตัวหากินของเรา ซื้อมา 50 บาท คนชมซะจนมูลค่ามันกลายเป็นหลายพันได้แล้วมั้ง ใส่ทีไรชอบมีคนมาชมตลอด 55 หรือพวกของ handmade เก๋ๆ ลายเยอะๆ คนอเมริกันจะชื่นชมเว่อร์มาก

การทำงานพาร์ททามส์ก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่เป็นความแตกต่าง เด็กมหาวิทยาลัยในอเมริกาส่วนมากจะทำงานพาร์ททามส์ หากพูดโดยรวม เราว่าแทบไม่มีใครที่ไม่เคยมีประสบการณ์ทำงานเลยก็ว่าได้

เด็กเสิร์ฟ พี่เลี้ยงเด็ก คนเลี้ยงสัตว์ (พาหมาไปเดินเล่น ไปเฝ้าหมา) << อันนี้รูมเมตคนเก่าเราเคยทำ คนเฝ้าตึก จัดเอกสาร รีเซฟชั่น สอนหนังสือ ฯลฯ มีหมดแหละ

แล้วที่ไทยเป็นยังไงบ้าง……ก็ไม่รู้

มันน่าสนใจที่ว่าในอเมริกา เรารู้สึกว่าการทำงานคือทำให้สังคมยอมรับในระดับหนึ่ง (ง่ายๆ คือแกเป็นคนเก่ง มีคนจ้าง ทำได้) ไม่รู้ว่าเป็นที่ยอมรับไหม ก็ตอนปีที่แล้ว เรามีรูมเมตเป็นเด็กปี 1 เราก็บอกนางไปว่าไม่ค่อยเจอฉันบ่อยหน่อยนะ เพราะฉันทำงาน นางก็มองเราแบบดูยกย่องนิดๆ แล้วหลังจากไม่นาน นางก็เริ่มทำงานบ้าง

หากเรามองว่าสังคมเอเชียเป็นสังคมวัตถุนิยมที่ออกมาแนวคล้ายๆ กัน แต่มันก็น่าสนใจที่ว่าทำไมปริมาณในไทยมันช่างเยอะจนน่ากลัว

ในญี่ปุ่น เด็กก็ทำงานพาร์ททามส์เพื่อหาเงินไปเที่ยว เล่น กินอยู่เป็นเรื่องปกติ แต่ทำไมสังคมไทย ผู้หญิงหลายคนถึงเลือกมาเดินสายนั้น

เพราะคุณค่าที่จะนับถือตัวเอง มันน้อยกว่าคุณค่าต้องการได้รับจากคนภายนอกแล้วหรือ?

หรือเพราะความเชื่อที่ว่า เราะเป็นที่ยอมรับจากสังคมภายนอกได้ ต้องใช้เงินเท่านั้น

ย้อนกลับไป ถามว่าสังคมอเมริกา การเป็นที่ยอมรับของสังคมต้องเป็นยังไง คำตอบในใจเราคือต้องเป็นคนเก่งและสร้างสรรค์ สังเกตได้จากในห้องหรือในสังคมก็ตาม คนอเมริกันจะพยายามพรีเซ้นต์ตัวเองให้ดูฉลาดในสายตาคนอื่น ทั้งการพูด การกระทำ ฯลฯ

ในขณะที่สังคมไทย บางทีก็โหดร้ายเกินไป เวลาที่มีข่าวเด็กเก่งๆ ออกมา ก็จะมีคอมเมนต์ที่ว่า “ความรู้ท่วมหัว เอาตัวไม่รอด” “เก่งแต่ในตำรา” “อยู่ในสังคมจริงๆ ไม่ได้หรอก”

ซึ่งเมื่อก่อน ก็ไม่เชิงเห็นด้วยแต่ก็ไม่ได้ถึงขั้นไม่เห็นด้วยเท่าไหร่ เรียกว่ากลางๆ มากกว่า

แต่พอช่วงนี้ ได้มาอยู่ห้อมล้อมโดยคนเก่งๆ ก็อยากบอกว่า  “โคตรเทพ”

คือทุกคนเป็นคนที่เก่งด้านวิชาการมากๆ อยู่แล้ว แต่ก็เก่งด้านอื่นด้วยแบบโคตรๆ คนหนึ่งเคยเป็นตัวแทนแข่งแบดเอเชีย พี่คนหนึ่งทำกับข้าวแบบอลังการมาก พี่อีกคนเดินป่า 3 วันแบบหาอาหารในป่ากินเองได้ (โดยไม่พึ่งมาม่า) มีหลายคนร้องเพลง เล่นดนตรีได้ น้องบางคนแบบคอแข็งเว่อร์ น้องอีกคนถ่ายรูปสวยมาก พี่บางคน (หลายคน) เล่นไพ่เก่งเว่อร์

ง่ายๆ คือเรายังไม่เจอคนที่ว่า “เนิร์ด” เลยสักคน ซึ่งจากประสบการณ์คนบางคนทีแรกเราก็มองว่าคนนี้เนิร์ดชัวร์ แต่ถ้ารู้จักไป เราก็เริ่มรู้สึกว่าคำว่า “เนิร์ด” ไม่มีอยู่จริง…

กลับมาสู่ประเทศไทย

แต่ในขณะที่ภาพโพสใช้ของราคาแพง เฟอร์นิเจอร์ประดับกายอลัง กลับมีแต่คนชื่นชม

ความน่ากลัวเหล่านี้คือมันเริ่มจะกลายเป็นวัฎจักรที่ว่า อยากใด้รับการยอมรับ (ซึ่งเป็นความต้องการพื้นฐานของมนุษย์ ไม่ใช่เรื่องแปลก) > ต้องมีเงิน > ทำยังไงให้มีเงินเยอะๆ > วิธีไหนก็ได้ > เลือกวิธีผิด หรือเลือกวิธีที่ทำให้รู้สึกบั่นทอนค่าของตัวเองลงไปอีก > ก็ยิ่งอยากได้รับการยอมรับจากคนอื่นมากขึ้น

แล้วดูเหมือนวัฎจักรเหล่านี้ จะกลายเป็นความเคยชินไปแล้วในสังคมไทย

สิ่งที่น่ากลัวยิ่งกว่า คือความเชื่อเหล่านี้กลับดูเหมือนจะยิ่งรุนแรง จนเป็นห่วงที่ว่าถ้าเรามีลูก มีหลาน พวกเขาจะอยู่รอดจากค่านิยมเหล่านี้ที่ห้อมล้อมตัวเขาได้อย่างไร

ถามตัวเองทุกวันนี้ก็ยังไม่มั่นใจ อยู่ที่นี่การแต่งตัวสบายๆ ลากกระเป๋าสีดำเรียบๆ (ไม่แบรนด์) และรองเท้าแตะ (120 บาท) ไปเรียน ไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร แต่กลับไทยการถูกมองและคำพูดต่างๆ นาๆ จากรอบข้างจะเป็นเช่นไร.. ก็ยังไม่รู้

สิ่งที่เราพูดแน่นอนว่าไม่ใช่คนไทยทั้งหมดที่เห็นแบบนี้…แค่คนที่เป็นแบบนี้บางครั้งมันดูเยอะ จนน่ากลัว

ปล. เราอาจพูดในมุมผู้หญิงมาก เพราะตอนอยู่ไทยเรามีแต่สังคมเพื่อนผู้หญิงเยอะ ไม่ค่อยรู้ว่าสังคมผู้ชายเป็นอย่างไรบ้าง เยอะเท่าแบบนี้ไหม ผู้ชายคนไหนผ่านมาอ่าน คอมเมนท์แสดงความเห็นด้วยจะขอบคุณมากนะคะ อยากฟัง

เพิ่มจากคอมเมนต์ตัวเองใน FB

อีกสิ่งหนึ่งที่เราไม่ค่อยชอบมากๆ ก็คือเรื่องของการรับน้องในโรงเรียนและมหาวิทยาลัย (บางแห่ง) ที่ต้องแพง เว่อร์ ไฮโซ บางทีเก็บเงินหลายร้อยต่อเดือน… คือบางคนพอมีก็จ่ายได้ บางคนไม่ค่อยมีก็พยายามไปหามาให้มี (จะไปบอกเพื่อนว่าไม่มีเงินอ่ะเธอ ฉันจน..ก็กระไรอยู่) ที่นี่ไม่ค่อยมีนะ เพราะเด็กแต่ละคนทำงาน รู้ค่าของเงินกันส่วนมาก ไม่ใช่งานโฮม งานรับน้อง ก็แบมือขอเงินพ่อแม่เพื่อมาแต่งตัวอวดกัน…อันนี้ส่วนตัวไม่ค่อยชอบเท่าไหร่

ล่าสุดเราไปค่าย 3 วัน 2 คืนกับคนไทยที่นี่ก็หมดไป 3 พันกว่าบาทเอง รวมที่พัก อาหาร เดินทาง ซึ่งคนจัดก็พยายามประหยัดให้มากที่สุด และใครจะไปก็จ่ายเอง

อาทิตย์ที่แล้วไปนั่งเมาท์กับป้าเจ้าของร้านอาหารไทย เขาก็ถามว่าเราใช้เงินเดือนละเท่าไหร่ เราก็บอกว่าประมาณ 1 พันเหรียญ (จริงๆ ไม่ถึงหรอก แค่ 8 ร้อยเหรียญเอง = เกือบ 3 หมื่นบาท) เขาก็บอกว่าพ่อครัวร้านเขา ส่งเงินให้ลูกเรียนอยู่มหา’ลัย ทีกทม.เดือนละ พันเหรียญ (3 หมื่นกว่า)
พ่อแม่ ทำงานหนักแทบตาย ให้ลูกเอาเงินไปใช้ทำอะไร..ก็ไม่รู้ (พ่อครัวอีกคนที่เราเคยทำงานด้วย ก็ทำงาน 6 วันครึ่งส่งลูกเรียนเหมือนกัน..เคยได้ยินโทรคุยกัน ลูกจะเอารถ แล้วทะเลาะกับพ่อนิดหน่อย… มีน้ำตาซึมอ่ะ)

Advertisement

Comments are closed.

Create a website or blog at WordPress.com

Up ↑

%d bloggers like this: