ถึงหัวข้อเรื่องจะเป็น sunday afternoon หรือเรื่องเล่าจากบ่ายวันอาทิตย์ แต่แท้จริงแล้วเรานั่งกันตอนเย็นๆ (เกือบ 1 ทุ่ม) เป็นเหมือนช่วงเวลาที่สะท้อนถึงชีวิตในวันนั้น (หรือทั้งอาทิตย์ได้ดี) เป็นการชาร์จพลังให้ตัวเอง ก่อนจะเริ่มต้นสัปดาห์ใหม่
มีคำพูดหลายคำที่ถูกใจ เลยขอเอามาแชร์ให้ฟังเช่นเคยค่ะ
Q การฝึกสติ เราฝึกไปเพื่ออะไร สำหรับคนทั่วไปที่มาฝึกหลายคนมาจากสายฟุ้งซ่าน (เช่นเรา) สายคิดมาก สายเครียด สายทดลอง สายอยากรู้หลายๆ อย่าง แต่บางคนเหมือนไม่ได้มี motivation มานั่ง (มานั่งเพราะถูกชวน หรือเพราะกลับไม่ทัน 55) ก็จะเกิดคำถามว่า “นั่งสมาธิไปทำไม?”
- การมีสติ ทำให้อยู่กับปัจจุบัน
- อารมณ์ความรู้สึกต่างๆ เช่น ความเศร้า เหงา เสียใจ โกรธ เกิดขึ้นเพียงแป๊บเดียว ณ ตอนนั้นแล้วก็หายไป ที่เรายังคิดอยู่เพราะจิตเราปรุงแต่งลงไป การฝึกสติ ทำให้เราอยู่กับปัจจุบัน ทำให้เรารู้ว่าความรู้สึกพวกนั้นคือความฟุ้งซ่านกับเรื่องราวในอดีตของเรา
- การมีสติ (เกิดจากการฝึกนั่งสมาธิ) ทำให้สามารถนิ่งขึ้น เช่นเวลาที่ใครมาด่า มาว่า แทนที่เราจะโต้ตอบ โมโหกลับทันที มันช่วยให้สามารถหยุดคิดว่า เห้ย เขาพูดแบบนี้ทำไม เขาพูดมันเป็นเรื่องจริงหรือเปล่า แล้วถ้าไม่จริง เราจะไปสนใจทำไม เพราะถ้าโกหกสุดท้ายก็ไม่มีใครเชื่อเขาเอง
- จะมีปัญญาได้ ต้องมีสติก่อน – พี่คนหนึ่งกล่าวไว้
- เนื่องจากที่อธิบายมาตอนต้น ค่อนข้างเป็นนามธรรม เลยมีพี่อธิบายเพิ่ม (เราก็จำได้ไม่หมด…ประมาณว่า) จิตของเราก็เหมือน CPU คอมพ์ โดยการนั่งสมาธิหรือการมีสติก็เป็นเหมือน application ตัวหนึ่งที่มาช่วยให้เรารู้วา CPU กำลังทำอะไรอยู่ การมานั่งรวมกันในห้องนี้ ก็เพราะเรามาเขียนแอพสติกันอยู่(เพื่อนพยักหน้าเข้าใจ พร้อมบอกว่า อธิบายเป็นภาษาคอมง่ายกว่า…)
Q ตอนนั้นสมาธิสามารถอยู่กับลมหายใจได้เพียงแป๊บเดียวเอง?
- การฝึกสติด้วยการนั่งสมาธิก็เหมือนหยดน้ำ เราฝึกตอนนี้ก็เหมือนน้ำทีละหยดๆ ซึ่งหากฝึกต่อไปเรื่อยๆ มันก็จะยาวออกมาเป็นสายน้ำได้
มีพี่คนหนึ่งยกบทความเรื่องสนทนาธรรมระหว่างท่านพุทธทาสกับ หม่อมราชวงศ์ คึกฤทธิ์ ขึ้นมากในเรื่องของการทำงานด้วยความว่าง (ว่างจากกิเลส ว่างจากการคิดถึงอนาคต) ซึ่งเป็นสิ่งที่ท่านทั้งสองเห็นไม่ตรงกัน
โดยท่านคึกฤทธิ์ บอกว่าเราจะทำงานด้วยความว่างได้อย่างไร ในเมื่อเราต้องมีการตั้งเป้าหมายให้บรรลุ ทำงานก็ต้องให้มีการเลื่อนขั้น ฯลฯ ในขณะที่ท่านพุทธทาสก็บอกว่า ให้ทำโดยคิดถึงแค่ปัจจุบัน (อารมณ์แบบทำ ณ ตอนนั้นให้ดีที่สุด)
พี่คนหนึ่งก็บอกว่า แท้จริงแล้วเราต้องถามตัวเองหรือเปล่า ว่าเราต้องการอะไร ความสุขของตัวเองคืออะไร บางคนไม่ต้องได้เลื่อนขั้นก็มีความสุขได้ ก็ทำตอนนั้น (ในขณะที่ทำงาน) ให้มีความสุขก็พอ ในขณะทีคนเลื่อนขั้น แป๊บหนึ่งก็อาจทุกข์อีกก็ได้
มีนิทานมาเล่าให้ฟัง เกี่ยวกับเรื่องทัศนคติอีกเช่นเคย
มีเด็กชาย 2 คน คนหนึ่งมีลูกแก้วหลายลูก อีกคนมีลูกอมหลายลูก โดยเด็กที่มีลูกอมอยากได้ลูกแก้ว และเด็กที่มีลูกแก้วอยากได้ลูกอม ทั้งคู่จึงตัดสินใจเอามาแลกกัน โดย ดช. ลูกแก้ว แอบเก็บลูกแก้วเอาไว้ลูกหนึ่งและให้ที่เหลือไป ในขณะที่เด็กชายลูกอม ให้ลูกอมทั้งหมด
คืนนั้นกลับบ้านไป เด็กชายลูกอม (ที่ได้รับลูกแก้วมา) ก็มีความสุขมาก นั่งเล่นลูกแก้วด้วยความสนุก ในขณะที่เด็กชายลูกแก้ว (ที่ได้รับลูกอม) ก็หงุดหงิด อารมณ์ไม่ดี….
ทำไม?
หลายคนจะเดาว่า อ้อ มันรู้สึกผิดแน่เลย ที่แอบกั๊กของไว้ พี่เขาเลยเฉลยว่า เปล่า แท้จริงแล้วคือ เขารู้สึกโกรธเพราะคิดว่าเพื่อนมันต้องแอบกั๊กลูกอมที่อร่อยที่สุดเอาไว้แน่เลย….
นึกถึงคำสอนคำนึงที่บอกว่า “สวรรค์อยู่ที่อก นรกอยู่ที่ใจ” ขึ้นมาเลย
จบท้ายด้วยเค้กชาเอิร์ลเกรย์ สูตรหวานน้อย ขนมอบ องุ่นและส้ม
อาทิตย์หน้าไม่รู้จะมีนั่งไหม เพราะเป็นวันหยุด thankgiving พอดี แต่ถ้ามีก็จะมาเล่าให้ฟังเรื่อยๆ ค่ะ
ชอบนิทานมากเลยค่ะ อ่านแล้วชอบเลยย^^ วันหลังหานิทานพวกนี้มาเล่าบ่อยๆนะคะพี่เพรฟ