ช่วงปีที่ผ่านมา หลังจากย้ายมหาวิทยาลัยใหม่ก็เรียกได้ว่าโหดพอตัว เพราะเปลี่ยนสาขาเรียน จากศิลป์มาเป็นกึ่งวิทย์ แถมความรู้วิทย์เราก็แทบไม่มีเลย เพราะเรียนสายศิลป์มาจากไทย
วันนี้เลยขอมาเล่าวิชาที่เราได้ A มาในเทอมนี้ ซึ่งก็คือวิชา “สรีรวิทยา” Physiology นั่นเอง ซึ่งถือว่าโหดมาก เหมือนเรียนเรื่องใหม่ ภาษาใหม่เลย
เราเคยเขียนโพสเก่าไว้ใน เรียนยังไงให้ได้เกรด A ซึ่งเป็นเรื่องเล่าทั้งเทอมของมหาวิทยาลัยเก่า ลองอ่านดูได้นะ
- อ่าน Syllabus โดยเฉพาะเรื่องคะแนน
วันแรก อาจารย์มักจะแจกตารางเรียนและคำอธิบายรายวิชา แนะนำให้อ่านให้ดีๆ อย่างวิชานี้คะแนนจะเต็ม 450 คะแนนโดยมี
- Quiz ย่อยทุกอาทิตย์ 50 คะแนน (เต็ม 10 คะแนนต่อครั้ง นับแค่ 5 ครั้งที่ได้คะแนนสูงสุดจาก 9)
- การเข้าเรียน 16 คะแนน
- การบ้าน online 14 คะแนน
- Midterm ครั้งแรก 100 คะแนน
- Midterm ครั้งที่สอง 100 คะแนน
- Final รวมเนื้อหาตั้งแต่วันแรกจนถึงวันสุดท้าย 170 คะแนน
จะเห็นได้ว่า 3 อันแรก เราควรจะทำคะแนนให้ได้เต็ม โดยเฉพาะข้อ 2 และ 3 ส่วนที่น่ากลัวอีกอย่างหนึ่งก็คือ Final เพราะไม่ได้สอบแล้วตัดทิ้ง แต่รวมเนื้อหาทั้งหมดเลย ฉะนั้น เวลาจดโน้ตก็ต้องเก็บให้ดีจนถึงวันสุดท้าย
- สมุดโน้ตในห้องเรียน
เนื่องจากแต่ละคาบอาจารย์จะมีคล้ายๆ outline มาให้โดยเราก็แค่ปริ๊นต์ออกมา ส่วนตัวไม่ว่าอาจารย์จะใช้ power point หรือเป็น outline แบบนี้ เราก็จะเขียนลงไปเลย (ไม่ค่อยเขียนแยกออกมาในสมุดเท่าไหร่) เพราะเวลาทวนมันจะได้อยู่รวมๆ กันที่เดียว
โดยเราจะปริ๊นแบบหน้าเดียว จะได้มีหน้าหลังว่างๆ ไว้เขียนโน้ต เผื่ออาจารย์อธิบายอะไรที่ต้องใช้พื้นที่ในการเขียนเยอะๆ หรือต้องวาดรูป
- จดจ่อกับสิ่งที่ครูพูด
ในห้องเรียน หลายคนจะมีความคิดว่า “เดี๋ยวไปอ่านเองก็ได้” จริงๆ จะบอกว่า สิ่งที่สอนในห้องนี่แหละ คือสิ่งที่จะออกสอบ อย่างเรารู้เลย เพราะ ก่อน midterm ครั้งแรก เราแบบตั้งใจเรียนในห้องมาก คะแนนออกมาดีมาก (99/100) แต่พอ หลังจากนั้น เปลี่ยนอาจารย์สอน แล้วเราก็ไม่ค่อยตั้งใจเรียนแล้ว (คิดว่าแบบ เดี๋ยวไปอ่านใน power point เองก็ได้) เลยไม่ค่อยตั้งใจ ปรากฎว่าคะแนน midterm ครั้งที่สองได้แค่ 80 กว่าๆ เอง
ฉะนั้น ในห้องเรียนคือช่วงเวลาที่มีค่า และที่สำคัญอย่าโดดเรียนนะคะ อย่างเรา วิชานี้เราไม่ได้โดดเรียนเลย เรียกว่าเทอมที่แล้วมีโดดเรียนเลขไปแค่คาบเดียวเอง
- สรุปโน้ตออกมาสำหรับอ่านเอง
เราจะเรียกสมุดนี้ว่าสมุด outline นะ โดยใช้สมุดไม่มีเส้นจะได้วาดรูปเซลล์ได้ 55
เนื่องจากบางที เนื้อหาที่อาจารย์พูดถึงมันไม่ได้มีแค่ในชีทอย่างเดียว แต่รวมถึง quiz ในห้องเรียน / การบ้าน online / เนื้อหาที่ TA (นักศึกษาปริญญาโท) เพิ่มเติมให้ / ลิงค์ที่อาจารย์ส่งมาให้เพิ่ม ซึ่งมันจะอยู่กระจัดกระจายมาก
สมุดเล่มนี้ก็คือการรวบรวมมันให้อยู่ในที่ๆ เดียว เวลาเราอ่านทวนสำหรับ quiz หรือ midterm ก็จะเป็นระเบียบมากขึ้น ที่สำคัญคือ เขียนให้สวยขึ้นด้วย 🙂
เราจะพยายามเขียนโน้ตใหม่ภายในวันนั้นที่เรียนเสร็จ (การทวนยิ่งเร็วยิ่งดี) แต่ส่วนมากก็ทำไม่ได้ 55 แต่ทวนภายใน 1 อาทิตย์ ไม่เกินเด็ดขาด ไม่งั้นจะพอกหางหมู 55
- ใช้โฟลเดอร์เจาะรู ในการเก็บชีท
เนื่องจากวิชานี้ชีทเยอะ เราเลยใช้แฟ้มเจาะรูในการเก็บ ข้อดีคือ มันเปิดอ่านง่ายดี เราจะมีแผ่นสีเป็นตัวแบ่งเช่น จบเนื้อหาการสอบ midterm ครั้งที่ 1 หรือ แบ่งเป็นชีทเบ็ดเตล็ดจากครูช่วยสอน ป.โท หรือเก็บ quiz เก่าๆ เป็นต้น
- วิธีการจดโน้ต
วิธีการจดโน้ตทำได้หลายแบบมาก เพราะมันขึ้นอยู่การเรียนรู้ของแต่ละคน ว่าถนัดแบบไหน ทั้ง mind map / วาดรูป / ตัวอักษร / แผนผัง ฯลฯ ฝรั่งบางคนก็ชอบใช้แผ่นคำช่วยจำ แต่ของเราไม่ถนัดเท่าไหร่
อย่างตัวเราเอง เราเป้นคนไม่ถนัดจำอะไรเป็นภาพเท่าไหร่ ถนัดจำเป็นตัวอักษร เป็นประโยคมากกว่า ฉะนั้น เวลาเรียนถ้ามีรูปเยอะๆ เราจะงง โน้ตของเราเลยมีตัวอักษรเยอะ (มีตารางกับลูกศรเชื่อมความสัมพันธ์บ้างประปราย)
เราแนะนำให้แต่ละคนหาวิธีการจดโน้ต แบบที่ตัวเองชอบ ลองไปส่องโน้ตของชาวบ้านก็ได้แล้วลองทำดู อย่างโน้ตของเราจะไม่มีวาดรูปเลย เพราะวาดไม่เป็น 55 แต่จะมีข้อความเขียนแซวเนื้อหาตลกๆ บ้าง ถ้าตอนเขียนคิดมุกออกพอดี
ถึงเราจะเรียนเป็นภาษาอังกฤษ แต่โน้ตย่อที่เราอ่านเองก็จะมีภาษาไทยแทรกประปราย เพราะมันช่วยให้เราจำได้ง่ายกว่าในบางอย่าง ฉะนั้นโน้ตเราจะมีภาษาอังกฤษ 70-80 เปอร์เซนต์และที่เหลือเป็นภาษาไทย
- ก่อนสอบ Midterm ทั้งสองครั้ง
อ่านทวนเล่ม outline นั่นแหละค่ะ ท่องให้ได้ทุกอย่างแล้วชีวิตจะดีเอง 55 บางอย่างเราก็ไม่ค่อยรู้ว่ามันคืออะไรเท่าไหร่ ก็พยายามเข้าใจนะ แต่หลักๆ ก็คือมั่นใจว่าท่องได้หมด เพราะข้อสอบมีทั้งตัวเลือกและเติมคำ อย่างเราจะจัดตารางอ่านหนังสือให้ดี เพราะเรามีสอบหลายวิชา
- ก่อนสอบ Final
เนื่องจากอ่านอย่างเดียว มันจำไม่ได้ยิ่งเนื้อหาต้นๆ ลืมไปหมดแล้ว เราเลยต้องเขียนใหม่ ซึ่งเราเขียนลงกระดาษ A4 แทน จริงๆ ส่วนตัวเราเป็นคนชอบเขียนทวนก่อนสอบใส่ A4 มากที่สุด ทำมานานตั้งแต่อยู่ม. ต้นแล้ว มันโล่งๆ ว่างๆ ดี
ซึ่งเนื้อหาไฟนอล ก็เริ่มอ่านตั้งแต่ต้น จากสมุดวิเศษของเราเล่มนั้นแหละ (สมุด outline) โดยถ้าเนื้อหาไหนที่ไม่เป๊ะ ลืม หรือแค่คุ้นๆ ก็เขียนลงไปใน A4 แต่ถ้าเนื้อหาส่วนไหนที่จำได้อยู่เป๊ะๆ (และมั่นใจว่าจะจำได้จนถึงวันสอบโดยไม่ลืม) ก็ไม่ต้องเขียน หรือบางคนก็เขียนลงไปให้หมดก็ได้นะ แต่แค่มันจะเยอะมาก
เน้นอีกทีว่าการทำโน้ตสำหรับอ่านสอบ ไม่ใช่การ “สรุป” นะ การสรุปไม่ทำให้ได้เกรดดี โดยเราต้องเน้นสำคัญที่สุดคือเนื้อหาครบ แต่อาจตัดทอนส่วนที่จำได้แม่นๆ แล้วออกไปได้บ้าง
ซึ่งสำหรับเรา การเขียนทวนคืออีกวิธีที่ทำให้มีสติกับเนื้อหาด้วย
หลังจากนั้นก็เย็บ A4 ไว้ ถ้ามันใหญ่มากก็แบ่งๆ ไว้ก็ได้ ทีนี้พอจะไปซื้อกับข้าว ไปซื้อของ ฯลฯ ก็หยิบไปด้วยทุกที
จริงๆ แต่ละวิชาอาจต่างกันสักนิด เช่นถ้าเรียนเลข / คำนวณ ก็เน้นไปที่ทำโจทย์เยอะๆ เป็นต้น
แถมการใช้ชีวิต
- ออกกำลังกาย
ช่วยได้เยอะมาก แนะนำให้ออกกำลังกายให้มากที่สุดเท่าที่ทำได้ จะเล่นกีฬา / วิ่ง / โยคะ อะไรก็ได้ (แต่อย่าโยคะอย่างเดียวนะ ให้มีกิจกรรมที่ active บ้าง)
- อาหาร
กินอาหารดีๆ มีประโยชน์ เทอมนี้เราทำกับข้าวกินเอง 3 มื้อเลยนะ เห็นเรียนยุ่งๆ แบบนี้ เราทำกับข้าว หิ้วปิ่นโตไปกินที่มหาวิทยาลัยทุกวันเลยนะคะ กินผักเยอะๆ ผลไม้ก็เยอะ 🙂
- จัดตารางชีวิต ตั้งแต่วันแรกที่เปิดเทอม
ของเราจะมีสมุด planner ที่เขียนการสอบ / ส่งงาน นู่นนี่เอาไว้ ให้เราวางแผนได้โดยไม่หลุดและไม่ลืม มีเวลาวางแผนสำหรับกิจกรรมที่อยากทำ ออกกำลังกาย ออกไปซื้อของ ฯลฯ
- จัดการกับอารมณ์ตัวเอง
หงุดหงิด เศร้า เหงา มันเป็นเรื่องธรรมดาของชีวิต ผ่านมาแล้วก็ผ่านไป อย่าปล่อยให้มันมาครอบงำตัวเรา ชีวิตเป็นของเรานะคะ ลองฝึกนั่งสมาธิ ปฏิบัติธรรมก็พอช่วยได้ อย่างน้อยก็ช่วยให้รู้ตัวว่าอ้อ ตอนนี้เรากำลังเครียดอยู่นะ ตอนนี้เรากำลังโกรธนะ
ใครอยากอ่านเรื่องดีๆ เบาๆ เกี่ยวกับชีวิต และการสนทนาธรรมในเรื่องรอบตัวที่เราจำๆ มาจากกลุ่ม ลองเข้าไปอ่านใน
Sunday afternoon เรื่องเล่าบ่ายวันอาทิตย์
Sunday Afternoon 2 กินขนม นั่งสมาธิ สนทนาธรรม
นี่เป็นตัวอย่างโน้ตของเราทั้งหมดค่ะ ที่จดในห้องเรียน – สมุดโน้ตส่วนตัว – รีวิวก่อนสอบ
เทอมใหม่นี้มาสู้ไปพร้อมๆ กันนะคะ ที่ผ่านมาเราก็ยัง concentrate ได้ไม่มากพอ เทอมนี้จะพยายามมากกว่าเดิมค่ะ 🙂
You must be logged in to post a comment.