มีข่าวเรื่องการฆ่าตัวตายที่เป็นกระแสกับละครดังหลังข่าวที่ฉายเกี่ยวกับเรื่องนี้ไป
เราเลยอยากมาเล่าประสบการณ์เมื่อปีก่อน
‘เมื่อรูมเมตฉันฆ่าตัวตาย’ (ในห้อง) และสิ่งที่เราได้เรียนรู้
ขอบคุณที่เข้ามาอ่าน อยากให้อ่านจนจบนะคะ
1.
4 ทุ่ม คืนวันอังคาร กลางเดือนตุลาฯ
วันอังคาร เรามีเรียนตั้งแต่ 8 โมงเช้าจนถึงเที่ยง
เรียนเสร็จก็ตรงกลับมาที่ห้องนอนของตัวเอง ไม่ได้ออกไปไหน
บอกก่อนว่าห้องที่เราอยู่อยู่ในหอพักนักศึกษา
เป็นห้องชุด มี 5 ห้องนอน อยู่ชั้น 6 เราหกคนแชร์ห้องน้ำเดียวกัน
ใช้ประตูใหญ่เข้าห้องบานเดียวกัน
คืนนั้น เราหลับไปตั้งแต่ 1 ทุ่ม
กรี๊ดดดดด เห้ย……. What? )%*^&$)&)%
‘แม่ง เล่นอะไรกันอีกละ’
เสียงกรีดนอกห้องปลุกเราขึ้นมา เราได้แต่ด่าในใจ เพราะบางทีพวกนี้ก็ชอบพาเพื่อนมาเล่นเสียงดังกันไม่เกรงใจ
เราพยายามข่มตาให้หลับ ท่ามกลางเสียงคนเดินไปมาด้านนอกให้วุ่น
สักพัก
“Stella, I’m sorry to wake you up but you need to get out now”
รูมเมตเคาะห้อง ไล่ให้เราออกไปจากห้องตัวเอง
เราลืมตาตื่น สะลึมสะลือ หยิบเสื้อหนาวและมือถือติดมือออกมาแบบงงๆ
ยังไม่รู้ว่าต้องเอาตัวเองไปไว้ที่ไหน
ในยาม 4 ทุ่ม เมื่อถูกบอกให้ออกจากห้องพักในต่างแดน เราก็ไม่รู้เหมือนกันว่าควรทำยังไงต่อไป
2.
ในความสับสน เราพยายามหาทางออก
เราเดินออกจากห้องสวนกับ รุ่นพี่ที่เป็นคนดูแลชั้นและตำรวจ
สีหน้ารุ่นพี่เขาเคร่งเครียด และการปรากฎตัวของตำรวจบอกเราว่าไม่ใช่เรื่องธรรมดา
เขาบอกเพียงว่าให้เราไปนั่งรอที่ชั้นอื่นก่อน
เรารั้งเขาไว้ ในใจมีคำถามมากมาย แต่ปากพูดออกไปได้แค่ว่า “มันมีอะไรเกิดขึ้นที่ห้องของฉันใช่ไหม”
สีหน้าลำบากใจของเขาคือคำตอบ
เราร่อนเร่ลงไปอยู่ชั้น 5 เช็คดูในกลุ่มเฟสบุ๊ค เขาบอกว่าให้คนในชั้น 6 ที่ยังตื่นอยู่ไปรอกันที่นั่น
เรามาถึงก่อนเป็นคนแรก
…เปิดมือถือดูก็เจอข้อความที่เจ้านาส่งมาต่อว่าเรื่องทำงานผิดพลาด พร้อมกับลดจำนวนวันทำงานลงอีก
ได้แต่นึกในใจ… วันนี้มันเป็นวันอะไรวะ
พอคนอื่นลงมาแต่ละคนก็ยังปกติเพราะไม่มีใครรู้ว่าอะไรเกิดขึ้น
มีหลายคนพุ่งเข้ามาถามเรา เพราะรู้ว่าเราเป็นคนเดียวอาศัยอยู่ในห้องนั้น
เราตอบไปว่าไม่รู้…เจนมาเคาะห้องบอกให้ฉันออกมา
ทำได้เพียงภาวนาให้รูมเมตที่เหลือลงมาเร็วๆ
การรอคอยท่ามกลางความสับสนมันช่างทรมาน
เราไม่รู้ว่ามันเกิดอะไรขึ้น
และ เราก็ไม่รู้ว่าอะไรจะเกิดต่อจากนี้
ที่สำคัญ เราไม่รู้แม้กระทั่งเราควรทำตัวอย่างไร อารมณ์ไหนและควรเอาตัวเองไปไว้ที่ไหน
สักพัก รูมเมตเราอีก 3 คนเดินลงมา
สีหน้าแต่ละคนแย่มาก ทุกคนเลยหยุดคุยกัน หันไปถาม
หนึ่งในนั้น บอกว่ารูมเมตคนหนึ่งในห้องพยายามฆ่าตัวตาย..พูดได้แค่นี้นางก็ร้องไห้
เราก็พยายามปลอบนางบอกว่าไม่เป็นไร
ในใจเราก็คิดว่าคงไม่มีอะไรมาก เพราะตำรวจก็มาแล้ว รถพยาบาลก็มากันเต็ม
แถมหลังหอพักเราก็เป็นโรงพยาบาลชื่อดังประจำเมือง
ยังไม่ทันคิดหาประโยคมาปลอบใจตัวเองได้ครบ
คนดูแลหอที่เราเดินสวนตอนออกจากห้องก็ลงมาบอกง่ายๆ สั้น ได้ใจความว่า
….. She passed away……(เขาจากไปแล้ว…ตลอดกาล)
เหมือนมีเมฆสีเทามาคลุมท้องฟ้ากลางคืนฤดูใบไม้ร่วงให้มืดมิดกว่าเดิม
แสงดาวคืนนี้ช่างริบหรี่เหลือเกิน
3.
กลางวันนั้นสั้น ค่ำคืนนั้นยาวนานเสมอ
เราไม่ได้นอนตลอดคืน
พวกเราลงไปรวมตัวกันที่ห้องนั่งเล่นชั้น 5
มีตำรวจ นักจิตวิทยามหา’ลัย คนดูแลหอ ผ.อ. มหาลัย มากันครบ
ดูก็รู้ว่าเจ้าหน้าที่มหา’ลัยหลายคนถูกโทรตามมาจากบ้าน
มีเพื่อนผู้ชายคนหนึ่งร้องไห้หนักมาก
“เป็นเพราะไอ ไอทำให้เขาฆ่าตัวตาย”
เพื่อนคนนี้เล่าว่า วันก่อนเกิดเหตุ เขาแกล้งล้อเพื่อนคนนี้ขำๆ เบาๆ (เป็นกลุ่มเด็กปี 1)
และเพื่อนคนนี้โกรธมากจนเขาเองก็งง
ว่าทำไมเล่นแค่นี้ถึงโกรธจริงจัง
ผู้ชายพยายามไปเคาะห้อง ขอโทษกี่ครั้งก็ไม่ได้รับคำตอบ
เหมือนเป็นการจากไปทั้งที่ยังค้างคา
เหมือนเป็นการจากไปที่ทิ้งให้คนที่มีชีวิตอยู่รู้สึกผิดไปชั่วชีวิต
เราจำรายละเอียดชัดเจนไม่ได้ว่าเกิดอะไรขึ้นบ้างในคืนนั้น
วุ่นวาย สับสนและเต็มไปด้วยอารมณ์ต่างๆ ฟุ้งไปหมด
แต่ยังไงก็นึกขอบคุณความมืออาชีพของตำรวจอเมริกา
ที่ทำงานได้เรียบร้อย ไม่มีคนมามุง และไม่ต้องมีภาพหลุดใดๆ ณ สถานที่นั้นออกมา
4
รักษาหัวใจตัวเอง
สิ่งที่ยากกว่าคืนนั้นคือเราจะเอาอย่างไรต่อ
ห้องพักอื่นในมหา’ลัยเต็ม เป็นนัยๆ ว่าเราไม่สามารถเปลี่ยนห้องได้
เราไม่สามารถย้ายออกได้ เพราะไม่มีที่ให้อยู่
เราไม่อยากไปแชร์ห้องกับคนอื่น เพราะกว่าเราจะแย่งชิงห้องเดี่ยวมาได้ก็ยากจะตาย
สรุปคือ เราต้องอยู่ที่เดิม
คืนแรก
เราพยายามกลับไปนอนที่ห้องตัวเอง นอนหลับไปได้ 3-4 ชั่วโมงก็ตื่น แล้วก็นอนต่อไม่ได้
ต้องอพยพตัวเองไปที่ห้องนั่งเล่นของชั้น 6
นอนไปก็เห็นภาพไป ว่าเขาเคยอยู่ตรงนี้ เคยมานั่งเล่นตรงนี้
รู้สึกเหมือนเขาอยู่ข้างๆ มีพลังงานไหลวนอยู่เพียงกำแพงบางๆ กั้นไว้
(ห้องเขาเป็นห้องแรก ที่ต้องเดินผ่านเมื่อเปิดจากประตูใหญ่)
มันเป็นความรู้สึกที่โคตรชัดเจนทั้งที่รู้ว่ามันไม่มีอยู่จริง
เป็นครั้งแรกที่กลัวตัวเอง
….เหมือนอาการของคนบ้า
เราเป็นคนเพ้อฝัน เพ้อเจ้อ ช่างจินตนาการ
แต่มันไม่เคยหนักถึงขั้นที่บังคับตัวเองไม่ได้ขนาดนี้
ใจคนช่างน่ากลัว
คือช่วงเวลาที่บอกให้เรารู้ว่า ความคิดของเรานี่แหละน่ากลัวที่สุด
มันสร้างภาพหลอนได้มากมายจริงๆ
คืนต่อมาเราย้ายไปนอนห้องเพื่อน
ทุกๆ คืนเราจะพยายามนอนห้องตัวเองให้ได้
ก่อนนอน เราเห็นความฟุ้งซ่านมากมายในความคิดของเรา
วิญญาณเขาอยู่แถวนี้ไหม / ทำไมเหมือนรู้สึกว่าเขามาอยู่ในห้องเราวะ ฯลฯ
โชคดีที่เราเคยนั่งสมาธิ ฝึกมรณานุสติมาก่อน
เราเลยใช้วิธีรู้ทันจิต ไม่ต้องพยายามไปหยุดความคิดนั้นๆ (เพราะลองแล้วมันไม่ได้ผล)
แค่ตระหนักรู้ว่าตอนนี้เรากำลังคิดนะ
มองความคิดเป็นสิ่งหนึ่งที่แยกออกมาจากตัวเรา
บอกตัวเองว่าความคิดพวกนั้นล้วนเป็นสิ่งที่เราปรุงแต่ง จินตนาการขึ้นมาทั้งนั้น
มันคือช่วงชีวิตที่เรารู้สึกกลัวมากๆ (ทั้งที่ปกติไม่ค่อยกลัวอะไร)
ช่วงขณะนั้น ทำให้เรารู้ว่าเส้นแบ่งระหว่างคนจิตปกติกับคนบ้ามันบางแสนบาง
และถ้าวันนั้น เราดึงใจเราออกมาจากความคิดปรุงแต่งไม่ได้ ตอนนี้เราอาจเป็นคนไข้ที่กำลังรักษาตัวอยู่ที่ไหนสักแห่งก็ได้
5.
เราได้เจอพ่อเขา ไม่กี่วันต่อมา (ครอบครัวเขาอยู่ต่างเมือง)
พ่อไม่ได้ปลอบพวกเรามากนัก เหมือนลึกๆ จะยอมรับว่าวันนี้ก็มาถึง
เขาเล่าเรื่องราวของลูกสาวในมุมที่พวกเราไม่เคยรู้ให้ฟัง
สิ่งหนึ่งจะเกิดขึ้นแน่ๆ กับคนรอบข้าง หลังเหตุการณ์ฆ่าตัวตายก็คือ ความรู้สึกผิดหรือบาปในใจ
– ผู้ชายคนนั้นที่ทะเลาะกันโทษตัวเอง “ไม่น่าไปแกล้งเลย TT” “ผมทำให้เขาต้องตาย”
– เจน หนึ่งในรูมเมต คาดว่าเป็นคนที่เห็นเพื่อนที่ตายเป็นคนสุดท้าย เจนบอกว่าตี 1 ของวันอังคาร เขารู้สึกว่าเพื่อนคนนั้นท่าทีแปลกๆ “ฉันน่าจะชวนคุย น่าจะ….”
– รูมเมตอีกคนเป็นคนที่สนิทกับคนตายมากที่สุด “ฉันไม่น่าไปนิวยอร์คเลย (นางเพิ่งกลับจาก นิวยอร์คบ่ายวันอังคาร) ถ้ายังอยู่ก็คงไม่เกิดขึ้น”
เราเชื่อว่าพ่อ แม่ (คนตายโทรคุยกับแม่เขาเป็นคนสุดท้าย) เพื่อนคนนอร์เวย์ (เป็นคนที่คนตายบอกว่าจะฆ่าตัวตายคืนนั้น และเพื่อนคนนอร์เวย์ก็ส่งข้อความมาบอกรูมเมตคนที่ไปนิวยอร์ค) ฯลฯ ก็คงคิดเช่นนั้น
Life hurts a lot, more than death
มันเต็มไปด้วย ถ้าฉัน….. “ถ้า”ที่ไม่มีประโยชน์ที่จะคิด เพราะมันย้อนเวลากลับไปไม่ได้อีกแล้ว
เมื่อฟังจากพ่อเขา เรารู้ว่าการฆ่าตัวตายนั้นไม่ใช่ความผิดของใคร…รวมทั้งคนที่ฆ่าตัวตาย
– พื้นฐานครอบครัวนี้มีฐานะ เพราะมหาวิทยาลัยของเราเป็นม. เอกชน ค่าเทอมแพง
– เพื่อนคนนี้เรียนเก่งนะ เป็นนร. ในโครงการเกียรตินิยมของม.
– เขาฆ่าตัวตาย เช้าวันอังคาร (หมายความว่าเราเดินผ่านห้องที่มีคนตายอยู่ข้างในตลอดทั้งวัน =_=)
– ลูกสาวเขาเป็น Anxiety (โรควิตกกังวล) มาเป็นสิบปีแล้ว และเพิ่งเป็น Depression เมื่อ 2-3 ปีที่ผ่านมา << จากที่อ่านบทความมา โรควิตกกังวลมีปัจจัยทำให้เสี่ยงต่อการเกิด depression มากขึ้น
– เขาเคยพูดว่าอยากตายหลายครั้ง (ไม่ชัวร์ว่าเคยฆ่าตัวตายหรือเปล่า)
– เขาอยากเริ่มต้นชีวิตใหม่ เลยตัดสินใจย้ายรัฐมาเริ่มต้นชีวิตม.ใหม่ที่นี่ ฯลฯ
– คืนก่อนตาย เขาโทรคุยกับแม่ของเขา บ่นว่าอยากตายเหมือนเดิม แม่เขาคิดว่าจะโอเคเลยไม่ได้ทำอะไร
เราได้เรียนรู้อะไรกับสิ่งนี้บ้าง?
- เราเรียนรู้ว่าคนเรามีความเข้มแข็งทางจิตใจไม่เท่ากัน (ทั้งจากร่างกาย สมอง และสังคมที่เติบโตมา) ในสังคมเรามักสอนและพยายามผลักให้คนเป็นในแบบที่คนส่วนใหญ่เป็นโดยลืมมองสภาพตัวตนของเด็กคนนั้น
เช่น ถ้าเป็นเราถูกล้อให้ตายก็ไม่ได้จะทำให้เราฆ่าตัวตาย แต่อย่างเพื่อนคนนี้เขามีตะกอนในใจว่าอยากตายอยู่แล้ว มันนิ่งอยู่ก้นใจรอวันที่จะประทุออกมา
พอถูกล้อทำให้โกรธ มันก็เหมือนไปกวนตะกอนนั้นขึ้นมา อารมณ์ตอนนั้นก็เป็นเหมือนลมที่พัดก้นตะกอนนั้นให้เป็นพายุ จนสุดท้ายเขาถึงเลือกที่จะจบชีวิตลง -
เป็นครั้งแรกที่เรารู้จักโรคซึมเศร้า(Depression) แบบจริงๆ จังๆ และรู้ว่า Depression นี่แหละตัวฆ่าคนตายเลย
สาเหตุการตายของวัยรุ่น (ของอเมริกา) อุบัติเหตุ ฆ่าตัวตายและถูกฆ่าตาย ซึ่งฆ่าตัวตายสูงกว่าถูกฆ่าอีก อัตราคนเป็นโรคซึมเศร้าของอเมริกาประมาณ 6.7 เปอร์เซนต์ (ใน 100 คนมี 6-7 คนที่เป็น) มากกว่าครึ่งของคนที่ฆ่าตัวตายเป็น Depression และ 15 เปอร์เซนต์ของคนป่วยตายจริงๆ จากการฆ่าตัวตาย (มีมากกว่านี้ที่พยายามฆ่าแต่ไม่ตาย)
และมันไม่ใช่จะดูออกง่ายๆ ถ้าไม่สนิทกันจริง อย่างเพื่อนเรา เจอหน้ากันทุกวันมาเกือบ 2 เดือนยังไม่มีใครรู้เลยว่าเขาเป็น Depression เจอนางก็หัวเราะ ชวนเล่นเกมส์ ชวนไปเดินเล่น เฮฮาตลอด ในรูมเมตทุกคน เขาเป็นคนสุดท้ายที่เราคิดว่าจะเป็น Depression อ่ะ (เรายังเหมือนคนเป็นมากกว่าอีก วันๆ ไม่ค่อยคุยกะเมต << ขี้เกียจพูดอังกฤษ 55)
-ระบบที่ดีช่วยเยียวยาใจได้
ถึงเราจะโคตรอยากรู้ อยากเผือกว่าตายยังไง เจอท่าไหนฯลฯ แต่ตำรวจก็ไม่มีใครพูดถึง รวมทั้งคนที่เห็น (คนที่เปิดประตูเข้าไปเห็น พอเห็นปุ๊บเขารีบปิดประตู แล้วบอกรูมเมตเราที่กำลังจะชะเง้อเข้าไปว่าให้ไปแจ้งตำรวจ)
ถ้าเป็นที่ไทยคงมีข่าวลงเกลื่อนไปหมด ในม.ฝรั่งก็ไม่เม้าท์เรื่องนี้เยอะ พอไม่ถูกตอกย้ำ สภาพใจเราก็ค่อยๆดีขึ้น
การเก็บคดี การประกาศข่าวการตาย การเคารพสิทธิส่วนบุคคล เป็นสิ่งหนึ่งที่เราชอบมาก ในประเทศนี้ (อเมริกา)
- ดีกับคนอื่นเสมอ
เราไม่รู้พื้นหลังเขา เราไม่รู้ว่าเขามีภูมิต้านท้านต่อความกดดันให้ดีแค่ไหน เพื่อสภาพจิตใจของตัวเราเอง เราก็เลยเป็นคนที่ระมัดระวังเรื่องคำพูด รวมถึงการแกล้งคนอื่นมากขึ้น เราไม่รู้ว่าพรุ่งนี้เราจะยังเจอกันอีกไหม (เขาอาจไม่ได้ฆ่าตัวตายก็ได้ แต่อาจจากไปด้วยสาเหตุอื่น)
ถ้าเรื่องของชาติหน้ามีจริง
เราเชื่อว่าความรู้สึกสุดท้ายของชาตินี้จะสานต่อไปยังชาติหน้า
บางคนต่อให้เราไม่อยากเจออีกแล้ว เราก็จะไม่จากเขาด้วยความรู้สึกเกลียด โกรธ แค้น (ไม่งั้นชาติหน้าได้เจอกันอีกแน่นอน)
ถ้าเราทำผิด เราจะรีบขอโทษและเคลียร์ให้จบทันที (เป็นคนปากไม่ค่อยดี เวลาสติไม่มี 55)
อย่างน้อยการขอโทษ คือการขออโหสิกรรม เขาให้หรือเปล่าไม่รู้ แต่เราพยายามที่สุดแล้ว
- สุดท้าย ทำให้เราต้องปฏิบัติธรรม ฝึกสมาธิต่อไป
เราเป็นพวกสายนั่งๆ หยุดๆ แล้วกลับมาทำใหม่ มันอาจไม่มีพัฒนาการอะไรเท่าไหร่ แต่ ณ ตอนที่เราฟุ้งซ่านก็ขอบคุณการทำสมาธิที่ผ่านมานี่แหละ ที่ช่วยให้เรารู้ทันความคิดที่กระจัดกระจายฟุ้งๆ ของตัวเองได้
ท้ายที่สุด ไม่รู้สิ เราแค่ไม่ชอบคนที่ซ้ำเติมคนที่ฆ่าตัวตายเท่าไหร่
“แค่นี้ทนไม่ได้ก็ตายๆ ไปเลย”
“ใครก็เจอเรื่องแบบนี้กันทั้งนั้น”
“ไม่สงสารพ่อแม่” ฯลฯ
มองในมุมเขา ถ้าเขาทนได้ เขาจะฆ่าตัวตายไหม
สัญชาตญาณมนุษย์ต้องการมีชีวิตรอด… อะไรทำให้เขาเดินสวนกับธรรมชาติขนาดนั้น
เรามองว่าคนที่พยายามฆ่าตัวตาย คือคนที่มีแผลในใจอย่างบอบช้ำ
เป็นคนป่วยอย่างหนึ่ง มีบางอย่างในร่างกายเขาที่ทำให้เขารู้สึกไม่โอเค
คนที่ฆ่าตัวตาย
สำหรับเรา ต่อให้ทำเพื่อเรียกร้องความสนใจหรือลงมือทำจริงๆ
เรากลับสงสารพวกเขา…..
You must be logged in to post a comment.